กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--ปตท.
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ได้แปลงสภาพตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ. ปตท. มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว จำนวน 20,000 ล้านบาทประกอบด้วยหุ้นจำนวน 2,000 ล้านหุ้นมูลค่าหุ้นละ 10 บาท โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการดำเนินงานของ บริษัทมหาชนจำกัด การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จากนี้ไป ได้มีการกำหนดกลยุทธ์และทิศทางที่ชัดเจนเพื่อใช้ประโยชน์จากความคล่องตัวที่มีมากขึ้นอย่างเต็มที่ และพัฒนาองค์กรให้เข้มแข็งภายใต้โครงสร้าง 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ กลุ่มธุรกิจน้ำมัน และกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น
นายวิเศษ จูภิบาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทมหาชน จำกัด การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทิศทางและการดำเนินงาน ของกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจหลักนั้น บมจ.ปตท. ได้วางโครงสร้างการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบายการเปิดเสรีการก๊าซธรรมชาติของรัฐบาล ที่จะให้เปิดบริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อแก่บุคคลที่สามในอนาคต โดยแยกโครงสร้างของกิจการท่อส่งก๊าซฯ และกิจการจัดหาและจำหน่ายก๊าซฯ ออกจากกันในลักษณะของการแบ่งแยกตามกฎหมาย ทั้งนี้ บริษัทมหาชนจำกัด การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จะดำเนินการจัดตั้งบริษัท ปตท. ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดตั้งได้ภายใน 1 ปี หลักจากที่บริษัทมหาชนจำกัด การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
นอกจากนี้ จากการที่ภาครัฐมีนโยบายเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงในอนาคตจะมีการเปิดช่องให้ผู้ผลิตสามารถขายตรงได้เช่นเดียวกับ บริษัทมหาชนจำกัด การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เพราะฉะนั้น บมจ.ปตท. จึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพปรับการบริหารให้มี ต้นทุนต่ำ กำหนดบทบาทและประสานงานภายในกลุ่มธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.ท่อส่งก๊าซฯ และบริษัท ปตท.ท่อจัดจำหน่ายก๊าซฯ ที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ สำหรับกลุ่มธุรกิจน้ำมัน กลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจที่ บมจ.ปตท. วางไว้คือ การสร้างมูลค่าร่วมในส่วนธุรกิจโรงกลั่นและการตลาด การสร้างกำไรจากธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ไม่ใช่น้ำมัน จะดำเนินการโดยส่งเสริมธุรกิจบริการอื่นๆ ในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ในทีดินของสถานีบริการให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน ระหว่างการจำหน่ายน้ำมันและธุรกิจเสริมอื่นๆ โดยการประสานงานทางด้านการกลั่น และการขายให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการใช้คลังน้ำมันร่วมกันให้มากขึ้น ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนร่วมดำเนินงานด้านการตลาด เช่น การพัฒนาธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจล้างรถอัตโนมัติ ธุรกิจบริการชำระค่าสาธารณูปโภค ธุรกิจเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เป็นต้น การเพิ่มขีดความสามารถในการใช้ระบบขนส่งที่มีอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มความมั่นใจในคุณภาพน้ำมันที่จัดส่งให้ลูกค้า การปรับกลยุทธ์ทางการตลาดระหว่างประเทศ จะเน้นหนักในธุรกิจ แอลพีจี (LPG) รวมถึงการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในการทำการค้าระหว่างประเทศ โดยอาศัยเครือข่ายและฐานของลูกค้าส่งออกและนำเข้า และเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐที่จะให้ บมจ.ปตท. เป็นหน่วยงานอิสระ ดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบในเชิงพาณิชย์ที่มีความรับผิดชอบ และไม่เป็นเครื่องมือใน การแทรกแซงการกำหนดราคาน้ำมันต่อไปในอนาคต ส่วนทิศทางการบริหารงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บมจ.ปตท. จะเน้นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้าโดยการพัฒนาเครือข่ายปิโตรเคมี ด้วยการใช้ประโยชน์สูงสุดจากอคอนเดนเสท และก๊าซ ก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท. ที่มีอยู่ จะดำเนินการขยายงานในส่วนที่จะช่วยให้บรรลุถึงจุดคุ้มค่าที่สุดตามหลักเศรษฐศาสตร์ (Economy of scale) เพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลง และจะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงมีการเชื่อมต่อธุรกิจให้ดำเนินไปแบบครบวงจร จากอุตสาหกรรมต้นน้ำไปถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำของปิโตรเคมี ซึ่งจะช่วยให้ บมจ.ปตท. สามารถแข่งขันได้มากขึ้น นอกเหนือจากการแปลงสภาพ และวางแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจแล้ว บมจ.ปตท. ได้มีการกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับจรรยาบรรณทางธุรกิจ และให้ความสำคัญในการบริหารงานภายใต้แนวทางการกำกับที่ดี (Good Corporate Governance) โดยเป็นบริษัทแรกที่ได้นำหลักการและนโยบายเกี่ยวกับการกำกับที่ดีมากำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท ที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เป็นกรอบในการบริหารจัดการและการดำเนินงานของบริษัท ดังนั้น ผู้ถือหุ้นจึงมั่นใจไว้ว่าการบริหารจัดการของ บมจ.ปตท. จะเป็นไปอย่างโปร่งใส ชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้--จบ--
-สส-
- พ.ย. ๗๙๒๙ บตท. ซื้อหนี้ดีออก MBS ประเดิมปี 56
- พ.ย. ๔๗๓๒ ภาพข่าว: นโยบายการพัฒนาและการเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ
- พ.ย. ๒๕๖๗ ก.ล.ต. ผนึกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 12 แห่ง เปิดตัว "รู้เรื่องเงิน.com" เว็บศูนย์รวมข้อมูลพื้นฐานแห่งแรกของไทย สนับสนุนคนไทยสร้างทักษะทางการเงิน
- พ.ย. ๒๕๖๗ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะยืนยันการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ของกระทรวงการคลังเป็นไปตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ
- พ.ย. ๒๕๖๗ กระทรวงการคลังหารือความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจสายการบิน เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก Covid-19 โดยเน้นรักษาสภาพการจ้างงานกว่า 20,000 ตำแหน่ง