กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--กทม.
เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ธ.ค.44 เวลา 10.30 น. ที่ผ่านมา ที่ห้องโอ.อาร์ น.พ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการแก้ปัญหาคุณภาพเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค โดยมี น.พ.อุดมศักดิ์ สังฆ์คุ้ม รองปลัดกรุงเทพมหานคร น.พ.กฤษณ์ หิรัญรัศ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย นายชุมพร พลรักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย ตัวแทนกรมปศุสัตว์ กรมการปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมประชุม
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ก่อนหน้านี้กทม.มีนโยบายที่จะจัดตั้งโรงฆ่าสุกรเพียง อย่างเดียว แต่ในวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการฯได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่าในเมื่อจะมีการก่อสร้าง โรงฆ่าสุกรแล้วก็ควรจะมีโรงฆ่าโค กระบือด้วย เพราะในกรุงเทพมหานครก็ยังไม่มีโรงฆ่าโค กระบือที่ถูกต้อง โดยการก่อสร้างนั้นได้กำหนดให้ทั้ง 2 โรงอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่จะแยกออกมาคนละโรง เพื่อไม่ให้เกิดการปะปนระหว่างเนื้อสุกร กับเนื้อโค กระบือ ทั้งนี้การกำหนดให้โรงฆ่าสัตว์ทั้ง 2 แห่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันก็เพื่อประหยัดงบประมาณในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ และการบำบัดน้ำเสียต่าง ๆ สำหรับโรงฆ่าสัตว์ที่จะจัดตั้งนี้ได้กำหนดสถานที่ไว้ 2 แห่งคือ ทางด้านทิศตะวันออก 1 แห่ง และทางด้านทิศตะวันตก 1 แห่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาสำรวจสถานที่ โดยแต่ละแห่งจะมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 50 ไร่ และมีกำลังการผลิต 2,000 ตัว/วัน/แห่ง
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางในการดำเนินการก่อสร้างว่า เนื่องจากโครงการดังกล่าวนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มีงบประมาณในการลงทุนเป็น 1,000 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อความโปร่งใส กทม.จะได้มีการตั้งบริษัทที่ปรึกษาขึ้นมาศึกษาโครงการและเป็นผู้ออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง จัดหาและติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือ ตลอดจนฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ ในกระบวนการฆ่าสัตว์และชำแหละเนื้อสัตว์
อนึ่ง ในวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการแก้ปัญหาคุณภาพเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคยังได้ร่วมกันพิจารณาร่างข้อกำหนดโครงการก่อสร้างโรงงานฆ่าสัตว์ทันสมัยในกรุงเทพมหานครด้วย ซึ่งหากกทม.มีโรงงานฆ่าสัตว์เป็นของตนเองจะสามารถแก้ปัญหาและป้องกันอันตรายที่จะมีต่อผู้บริโภค ที่มาในรูปของสารพิษและสารจุลชีพตกค้างในเนื้อสัตว์ได้ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อบริโภคในเขตกรุงเทพมหานครให้ได้มาตรฐานถูกสุขอนามัย และยังเป็นแหล่งให้ความรู้ด้านสุขอนามัยอีกด้วย สำหรับการดำเนินงานดังกล่าวทางคณะกรรมการฯจะได้มีการหารืออีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะสามารถสรุปผลการดำเนินการทั้งหมดได้ภายในเดือน ม.ค.45--จบ--
-นห-