กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2
สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลวิจัยการใช้เทคนิคการจัดการ Value Engineering ในโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมบริการ 12 แห่ง ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการใช้พลังงานไปได้กว่าร้อยละ 15
นายธนากร จงวิลาสลักษณ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ผลจากการดำเนินงานโครงการประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมด้วยเทคนิคการจัดการ Value Engineering ที่ได้ทำกับโรงงานอุตสาหกรรม 10 แห่ง และอุตสาหกรรมบริการ 2 แห่ง รวม 12 แห่ง ปรากฏว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการใช้พลังงานไปได้แล้ว 10 ล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 15 จากโครงการที่ทำเสร็จแล้ว 70 โครงการใน 92 โครงการ
โครงการประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมด้วยเทคนิคการจัดการ Value Engineering เป็นโครงการการศึกษากรณีตัวอย่างโรงงานที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎกระทรวงเกี่ยวกับโรงงานควบคุม โดยสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ซึ่งได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อกระตุ้นให้บุคลากรในโรงงานเห็นถึงความสูญเปล่าของพลังงานที่ถูกมองข้าม โดยอาศัยความช่างสังเกตและมองหาความสูญเปล่าของพลังงานที่แฝงอยู่ในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้เข้าถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาและสามารถแก้ไขได้อย่างถูกต้อง จนนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อปรับปรุงโรงงานให้เกิดการประหยัดพลังงานอย่างแท้จริง
"ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักคิดถึงการประหยัดพลังงานเป็นเพียงการนำเอาอุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่มีราคาสูงและมีระยะเวลาคืนทุนนานมาใช้ ดังนั้น โครงการประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมด้วยเทคนิคการจัดการ Value Engineering จึงเกิดขึ้นเพื่อหาแนวทางการประหยัดพลังงานที่หลีกเลี่ยงการลงทุนสูงในด้านอุปกรณ์ โดยใช้รูปแบบการจัดการที่พยายามลดความสูญเสียทุกๆ อย่างที่มีอยู่ให้หมดไป และใช้อุปกรณ์เครื่องจักรทุกอย่างที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แล้วจึงจะนำไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นในการประหยัดพลังงานในอนาคต" นายธนากร กล่าว
นายธนากร กล่าวว่า "โรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมบริการที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมด้วยเทคนิคการจัดการ Value Engineering มีทั้งสิ้น 12 แห่ง โดยประเภทของโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมบริการ ที่สามารถประหยัดพลังงานได้สูงสุด คือ บริษัท เซ็นเตอร์คอนเทนเนอร์ จำกัด และบริษัท ซี.พี.เซเว่น อีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้แล้ว 487,369 บาทต่อปี และ 2 ล้านบาทต่อปี ตามลำดับ"
โครงการที่บุคลากรในโรงงานฯ ร่วมกันคิดและลงมือปฏิบัติให้เกิดการประหยัดพลังงานได้อย่างรวดเร็ว ส่วนมากเป็นการประหยัดพลังงานด้านแสงสว่าง อาทิ การลดความซ้ำซ้อนของตำแหน่งหลอดไฟ รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ควบคุมการเปิดหลอดฟลูออเรสเซนต์ (BALLAST) ที่ประหยัดพลังงาน การลดพลังงานในกระบวนการผลิต ได้แก่ การหยุดเดินเครื่องจักรที่ไม่ได้ถูกใช้งาน การลดเวลาการเปิด - ปิด หม้อไอน้ำ (BOILER) เพื่อให้หม้อไอน้ำทำงานน้อยลงโดยไม่กระทบกระบวนการผลิต โดยการปรับปรุงที่เกิดขึ้นอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องประโยชน์การใช้งานที่แท้จริงของอุปกรณ์และเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม
โรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมบริการแห่งใด ต้องการคำแนะนำการประหยัด พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมด้วยเทคนิคการจัดการ Value Engineering สามารถติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หมายเลขโทรศัพท์ (02) 218-8091 และ 218-8087
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2 โทรศัพท์ 6121555 ต่อ 201-5 โทรสาร 6121368 121/1-2 ถ.เพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 www.nepo.go.th-- จบ--
-อน-
- พ.ย. ๒๕๖๗ Xinhua Silk Road: "เฉิงหง โฮลดิ้ง กรุ๊ป" เปิดตัวโครงการพลังงานใหม่ในเมืองจางเจียกังทางตะวันออกของจีน
- พ.ย. ๒๕๖๗ Fraunhofer ISE เผยผลการศึกษารอบที่สอง พบโมดูล Vertex 210 และระบบติดตามของทรินา ช่วยลด LCOE ได้ 6.0%
- พ.ย. ๒๕๖๗ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ ร่วมกับ วิศวะ จุฬาฯ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ และศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ จัดการเสวนา “โครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ตกริด : อนาคตประเทศไทย”