กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
FoodMarketExchange.com เปิดให้บริการประมูลกุ้งผ่านอินเทอร์เน็ต ดึงโรงงาน-เกษตรกร-คนกลาง ร่วมซื้อขายผ่านระบบ อี-คอมเมิร์ซ ครั้งแรกของโลก
โรงแรมรีเจนท์ - บีส ไดเมนชั่น รุกให้บริการเต็มรูปแบบด้วยการขยายการให้บริการระบบประมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการส่งออก โดยขั้นแรกได้เริ่มโครงการนำร่องประมูลซื้อขายกุ้งผ่านเว็บไซต์ FoodMarketExchange.com เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องอีก 3 ฝ่าย ทั้งโรงงาน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และคนกลาง นับเป็นการให้บริการประมูลซื้อขายกุ้งทางอินเทอร์เน็ตครั้งแรกของประเทศไทยและของโลก
นายไซมอน ชาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมส่งออกอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในรูปแบบ B2B e-Marketplace ภายใต้เว็บไซต์ FoodMarketExchange.com เปิดเผยว่า การให้บริการระบบประมูลซื้อขายกุ้งผ่านอินเทอร์เน็ตนี้เกิดขึ้นจากการที่บริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการนำเอาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และ อี-คอมเมิร์ซมาประยุกต์ใช้กับการประมูลซื้อกุ้งที่เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็งเพื่อการส่งออก เนื่องจากระบบดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความสะดวก โปร่งใส ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และที่สำคัญที่สุดคือ โรงงานจะได้กุ้งที่มีความสดและมีคุณภาพดีมาทำการผลิตเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี ส่งผลให้โรงงานผู้ผลิตของไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านคุณภาพสินค้า ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และต้นทุนที่เหมาะสม บริษัทฯ จึงได้ริเริ่มพัฒนาการให้บริการในส่วนนี้ขึ้น โดยได้ร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โรงงานผู้ผลิตกุ้งแช่แข็ง และคนกลาง (Broker) ในการประมูลซื้อขายกุ้งผ่านเว็บไซต์ FoodMarketExchange.com เป็นโครงการนำร่องครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
การประมูลซื้อขายกุ้งดังกล่าวเป็นการประมูลโดยโรงงานผู้ผลิตอาหารแช่แข็งประมูลซื้อกุ้งจากบ่อเลี้ยงกุ้งของกลุ่มเกษตรกรของชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานีโดยตรง ซึ่งมีโรงงานผู้ผลิตและส่งออกอาหารแช่แข็งชั้นนำของประเทศเข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 6 ราย ได้แก่ บริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยนซีฟู้ด จำกัด (มหาชน), บริษัท ปากพนังห้องเย็น จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด จำกัด, บริษัท เอสทีซี ฟู้ดแพค จำกัด, และบริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งคนกลาง (Broker) อีก 2 ราย คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไพบูลย์ กุ้งทอง และ แพเจริญทรัพย์ ทั้งนี้ ขั้นตอนการประมูลเริ่มต้นจาก "คนกลาง" ซึ่งเกษตรกรและโรงงานเป็นผู้ร่วมกันคัดเลือกขึ้นมาให้ทำหน้าที่ในการสุ่มตัวอย่างกุ้งขึ้นมาจากบ่อเพื่อตรวจสอบขนาดและคุณภาพ พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดของกุ้งที่สุ่มขึ้นมาให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งนำไปกรอกข้อมูลเข้าไปในระบบของเว็บไซต์ FoodMarketExchange.com ซึ่งทำหน้าที่เป็นตลาดกลางในการประมูล หลังจากนั้น เมื่อมีการประกาศเปิดตลาดประมูล โรงงานผู้ผลิตกุ้งแช่แข็งสามารถเข้ามาดูรายละเอียดของกุ้งได้ทันที เสมือนกับการไปประมูลซื้อ ณ บ่อเลี้ยงกุ้งจริงๆ และสามารถทำการเสนอราคาประมูลผ่านระบบได้ทันที และภายหลังจากตลาดปิดการประมูลแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์จะทำหน้าที่ตัดสินเพื่อแจ้งผลการประมูล ซึ่งทั้งผู้เปิดประมูลและผู้เข้าประมูลสามารถตรวจสอบผลการตัดสินได้ทันทีที่เว็บไซต์ FoodMarketExchange.com หลังจากนั้นคนกลางจะทำหน้าที่เป็นผู้ขนส่งกุ้งไปยังโรงงาน และโรงงานทำการตรวจรับกุ้งที่ประมูลได้ เป็นอันจบขั้นตอนทั้งหมด
นายไซมอนกล่าวว่า การประมูลซื้อขายกุ้งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะช่วยให้เกษตรกรได้รับราคาที่ดีตามคุณภาพของกุ้งและลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เนื่องจากการซื้อขายปกติในระบบเดิมโดยส่วนใหญ่ คนกลางต้องเป็นผู้ประมูลกุ้งจากหน้าบ่อของเกษตรกร และหลังจากประมูลได้แล้วก็มักจะนำไปขายต่อให้กับโรงงานโดยตรงหรือนำเข้าไปขายยังตลาดกลางอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ปัจจุบันพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งของไทยส่วนมากอยู่ในแถบจังหวัดภาคใต้ เรื่องเวลาและระยะทางจึงเป็นข้อจำกัดให้บุคลากรของฝ่ายโรงงานไม่สามารถไปซื้อกุ้งที่หน้าบ่อของเกษตรกรได้ด้วยตนเอง แต่ด้วยวิธีการใหม่นี้จะช่วยให้โรงงานได้รับความสะดวกมากขึ้นเพราะสามารถเข้าร่วมประมูลซื้อกุ้งได้โดยตรงผ่านทางอินเทอร์เน็ต ณ โรงงานของตนได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปที่บ่อกุ้งอีกต่อไป จึงทำให้โรงงานสามารถได้รับกุ้งที่มีคุณภาพดี ส่งผลให้การส่งออกกุ้งได้ราคาดีและเป็นไปตามความต้องการของตลาด อีกทั้งยังมีความโปร่งใสในทุกขั้นตอนของการจัดซื้อเพราะระบบสามารถทำการตรวจสอบข้อมูลในแต่ละขั้นตอนได้ด้วย
ดร. ผณิศวร ชำนาญเวช รองประธานอาวุโส บริษัท ปากพนังห้องเย็น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประมูลกุ้งทางอินเทอร์เน็ตในครั้งนี้ด้วยเปิดเผยว่า การประมูลกุ้งผ่านอินเทอร์เน็ตในลักษณะเช่นนี้ยังไม่มีประเทศไหนในโลกทำกัน หากประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มก็จะสามารถกำหนดกติกา วิธีการคัดขนาดและคุณภาพของกุ้ง การชั่งน้ำหนักกุ้ง รวมทั้งมาตรฐานอื่นๆ เองได้ ส่งผลให้ผู้ผลิตกุ้งของไทยสามารถแข่งขันและมีอำนาจต่อรองในตลาดโลกมากขึ้น และในอนาคตหากจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่เข้ามารวมกันอยู่เว็บไซต์ FoodMarketExchange.com มีมากขึ้น ก็จะช่วยดึงดูดให้ผู้ผลิตกุ้งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเข้ามาทำการประมูลซื้อขายกันมากขึ้น
ด้านนายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ส่งออกกุ้งแช่แข็งรายใหญ่ของไทยให้ความเห็นต่อระบบการประมูลกุ้งผ่านอินเทอร์เน็ตว่า สามารถช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงตัวเกษตรกรได้โดยตรง เอื้อประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายคือ เกษตรกรผู้ขายสามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายของตนได้มากขึ้น และโรงงานผู้ซื้อก็จะได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีและมีความสดมากขึ้น ซึ่งเท่าที่สังเกตจากการเข้าร่วมประมูลจริงที่ผ่านมา นับได้ว่า FoodMarketExchange.com มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และทีมงาน ตลอดจนระบบป้องกันข้อมูล (Security System) จึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นในเรื่องความโปร่งใสและการรักษาความลับของข้อมูลสมาชิก
นายพรเลิศ พนัสอำพน ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้แทนฝ่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมประมูลกุ้งผ่านอินเทอร์เน็ตเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นว่าเกษตรกรจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการขายกุ้งได้มากขึ้น และยังช่วยลดเวลาของขั้นตอนจากฟาร์มสู่โรงงานหรือห้องเย็น ช่วยให้กุ้งมีคุณภาพดีและมีความสด ส่งผลให้ราคาขายกุ้งที่เกษตรกรจะได้รับจากโรงงานสูงขึ้นด้วย ถึงแม้ว่าในช่วงเริ่มต้นทำการประมูลซื้อขายกุ้งผ่านอินเทอร์เน็ตจะมีขั้นตอนมากและถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรไทย แต่ก็เชื่อมั่นว่า FoodMarketExchange.com จะสามารถพัฒนาระบบการบริการให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น และในระยะเวลาอันใกล้นี้เกษตรกรจะมองเห็นประโยชน์และหันมาใช้วิธีการประมูลซื้อขายกุ้งผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความซื่อสัตย์และไว้วางใจซึ่งกันและกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประกอบกัน
ด้านผู้แทนจากคนกลาง นายไพบูลย์ คุ้มสมุทร กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไพบูลย์ กุ้งทอง กล่าวว่า การประมูลกุ้งผ่านอินเทอร์เน็ตนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเป็นช่องทางใหม่ในการกระตุ้นให้มีการซื้อขายกุ้งและมีการเปรียบเทียบราคากันมากขึ้น นอกจากนี้ จะทำให้ทั่วโลกรับรู้ว่าประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านวิธีการซื้อขายวัตถุดิบทางการเกษตรไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว ซึ่งปัจจุบันเรามีตลาดกลางในการประมูลกุ้งเพียง 2 ตลาดเท่านั้น คือ ตลาดมหาชัยที่จังหวัดสมุทรสาคร และตลาดปากพนังที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หากวิธีการใหม่นี้ประสบความสำเร็จก็จะกลายเป็นตลาดที่ 3 ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น และที่เห็นได้ชัดเจนคือคุณภาพกุ้งที่ได้จะมีความสดมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่อยากจะฝากไว้คือ คนกลางต้องมีความซื่อสัตย์เพราะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบวัตถุดิบแทนโรงงานหรือห้องเย็น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
อรนุช เตชอภิรักษ์
ฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ บริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด
โทรศัพท์ 0-2298-0345 ต่อ 531 โทรสาร 298-0332
วรรณี ลีลาเวชบุตร หรือ ลัคคณา ขวัญงาม
บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด (ที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์)
โทรศัพท์ 0-2861-0881-6 โทรสาร 438-4427--จบ--
-อน-
- ๒๔ ธ.ค. อินฟลูเอ็นเชี่ยล แบรนด์ สิงคโปร์ จับมือ นิโอ ทาร์เก็ต ร่วมเฟ้นหา สุดยอดแบรนด์ครองใจผู้บริโภคสูงสุด จากผลวิจัยกลุ่ม Gen Y และ Z
- ธ.ค. ๒๕๖๗ นิโอ ทาร์เก็ต และอินฟลูเอ็นเชี่ยลแบรนด์ สิงคโปร์ มอบรางวัลแก่ผู้นำหญิงเก่งแห่งปี ในงาน "2022 ASIA CEO SUMMIT & AWARD CEREMONY"
- ธ.ค. ๒๕๖๗ งานประกาศรางวัล "อินฟลูเอ็นเชี่ยล แบรนด์ อะวอร์ด ประจำปี 2022"