กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
[email protected]
ในการทำธุรกิจเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็คทรอนิคส์ (E-Commerce) ที่ต้องให้บริการผ่านเว็บไซท์นั้นความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลจากเว็บไซท์ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะถ้าเว็บไซท์ของท่านดาวน์โหลดช้า ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ทก็อาจเปลี่ยนไปใช้บริการของเว็บไซท์คู่แข่งของท่านแทน นอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างที่เว็บไซท์ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากเช่น เว็บไซท์ hotmail.com หรือ yahoo.com เจอ คือ เมื่อมีผู้ใช้บริการจำนวนมากจากทั่วโลกเข้ามาใช้บริการในเว็บไซท์วันละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านครั้ง ต่อวัน จำนวนคอมพิวเตอร์เซิพเวอร์ที่ให้บริการอาจไม่เพียงพอ ทำให้การดาวน์โหลดข้อมูลล่าช้า จึงมีการคิดวิธีการ Mirroring หรือวิธีการทำ Caching ขึ้นมาเพื่อให้การให้บริการแก่ลูกค้าของตนรวดเร็วขึ้น
การทำ Mirroring คือ การที่ท่านทำสำเนาข้อมูลจากเว็บไซท์ของท่านโดยการเชื่อมต่อ (host) และอัพโหลด(Upload) ข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์หลักของท่านไปไว้ที่คอมพิวเตอร์เซิพเวอร์เครื่องอื่นในบริเวณที่มีผู้ใช้บริการเว็บไซท์ของท่านหนาแน่น เพื่อให้ผู้ใช้บริการที่อยู่ในพื้นที่คนละฝั่งทวีปกับเว็บไซท์หลักของท่านสามารถดาวน์โหลดข้อมูลจากเว็บไซท์ของท่านได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เว็บไซท์ hotmail.com ซึ่งมีบริษัทอเมริกันดูแลอยู่จะมีคอมพิวเตอร์เซิพเวอร์หลักที่ทำหน้าที่ดูแลควบคุมธุรกรรมต่างๆทั้งหมดบนเว็บไซท์ hotmail.com (สมมติว่าเครื่องคอมพิวเตอร์หลักคือ เครื่อง A และ B อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา) โดยปกติคนยุโรปจะเข้าไปเช็คข้อมูลใน hotmail.com ลำบากในเวลาช่วงบ่ายเนื่องจากเป็นช่วงเวลาเช้าของประเทศสหรัฐอเมริกา คนอเมริกันหากต้องการเช็คอีเมล์ของตนในตอนเช้าก็ต้องดาวน์โหลดข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เครื่อง A และ B ของ hotmail.com เช่นกัน ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดบนอินเตอร์เน็ทหรือที่เราเรียกกันว่า "ปัญหา Bottle Neck" จึงมีคนคิดแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการทำ Mirroring โดย hotmail.com จะทำสำเนาข้อมูลบนเว็บไซท์ของตนและเพิ่มจำนวนที่อยู่บนอินเตอร์เน็ท( IP Address) สำหรับชื่อโดเมนของตนให้มากขึ้นรวมถึงเชื่อมต่อ( host) กับอัพโหลดข้อมูลไปฝากไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์เซิพเวอร์เครื่อง C D หรือ F ที่ตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษหรือแถบยุโรป เมื่อคนยุโรปต้องการดาวน์โหลดข้อมูลจากเว็บไซท์ hotmail.com เครื่องคอมพิวเตอร์ A และ B ก็จะเช็คที่อยู่ของเซิพเวอร์ที่ใกล้เคียงมี่สุด(เซิพเวอร์ C D หรือ F) และสั่งให้เครื่องดังกล่าวป้อนข้อมูลให้แก่ผู้ใช้บริการทำให้การดาวน์โหลดข้อมูลรวดเร็วยิ่งขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดจากการทำ Mirroring คือ การทำ Mirroring ได้ถูกนำไปใช้กับกิจการอินเตอร์เน็ตมากมาย อาทิเช่น การให้ดาวน์โหลดโปรแกรม Free ware Shareware การให้บริการข้อมูลต่างๆทุกประเภทไม่จำกัดเฉพาะบริการให้เช็คอีเมล์เท่านั้น การทำ Mirroring นั้นแท้ที่จริงก็คือการทำซ้ำสำเนางานของผู้อื่นทั้งที่มีลิขสิทธิ์และไม่มีลิขสิทธิ์ บางครั้งอาจเป็นข้อมูลที่เป็นความลับ หรือข้อมูลในทางธุรกิจ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การทำ Mirroring ผิดกฎหมายหรือไม่ ในประเทศสหรัฐอเมริกา การทำ Mirroring สามารถทำได้เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกาคือ The Digital Millenium Copyright Act 1999 หรือ DMCA เปิดช่องไว้ขณะที่การทำ Mirroring ดังกล่าวในประเทศอังกฤษอาจผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศอังกฤษ เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ของอังกฤษ ปี 1988 ระบุว่า สามารถทำซ้ำสำเนา (back up) ได้เฉพาะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซอพท์แวร์เท่านั้นไม่รวมถึงข้อมูลประเภทอื่น ดังนั้นหากต้องการทำซ้ำข้อมูลอย่างอื่นเช่น ข้อมูลส่วนบุคคลอาจต้องขออนุญาตจากเจ้าของข้อมูลก่อน ในส่วนของกฎหมายไทยนั้นเป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังช่วงท้ายของบทความครับ
ในส่วนของการทำ Caching นั้นก็เป็นวิธีการทำสำเนาข้อมูลเช่นกันแต่ใช้ในกรณีที่ข้อมูลนั้นมีผู้ต้องการใช้มากหรือมีผู้ใช้บริการข้อมูลนั้นบ่อยครั้ง ก็จะมีการทำ สำเนาด้วยวิธีการ Caching ข้อมูลนั้นไว้บนเซิพเวอร์เพื่อให้สามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นเครือข่ายทันทีแทนที่ต้องดาวน์โหลดจากคอมพิวเตอร์เครื่องหลักทุกครั้ง แต่การทำ Caching ข้อมูลในทางเทคนิคนั้นมีข้อเสียคือจะต้องทำการ Update ข้อมูลที่ Cache นั้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากข้อมูลหลักมีการเปลี่ยนแปลงประเภทของการจัดเก็บข้อมูลหรือรูปแบบของการจัดเก็บข้อมูล ผู้ที่เป็นเจ้าของเว็บไซท์ที่ทำ Cache สำเนาข้อมูลไว้ก็ต้องทำการจัดระบบการ Caching ใหม่ เว็บไซท์ที่ใช้วิธีนี้ เช่น เว็บไซท์ google.com ซึ่งเป็นเว็บไซท์ประเภท Search Engine เว็บไซท์ google.com จะ ทำการ Caching ข้อมูลจากฐานข้อมูลของเว็บไซท์อื่นเช่น altavista .com เว็บไซท์ yahoo.com เว็บไซท์ findlaw.com และเว็บไซท์อื่นๆมากมายเพื่อเป็นฐานข้อมูลของตน ให้ผู้ใช้บริการค้นข้อมูล ในประเทศไทยนั้นเว็บไซท์ท่า( Portal Website)บางรายก็จะทำ Caching ข้อมูลของเว็บไซท์อื่นมาไว้ในเว็บไซท์ของตนเช่นกันเพื่อให้ลูกค้าดาวน์โหลดได้เร็วขึ้น โดยการ ทำ Caching ในแต่ละครั้งนั้นคอมพิวเตอร์ซอพแวร์จะดำเนินการทั้งหมดโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีคนควบคุม จำนวนครั้งของการทำ Caching แต่ละครั้งนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ทเป็นหลัก ปัญหาข้อกฎหมายคือการทำซ้ำหรือ Caching ดังกล่าวผิดกฎหมายไทยหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือกรณีการใช้โปรแกรม Java หรือ Active X ของเว็บไซท์ที่ผู้เขียนเว็บไซท์บางรายจะใส่โปรแกรม Java หรือ Active X เข้าไปในเว็บไซท์ของตนเพื่อเก็บข้อมูลของลูกค้าแต่ละรายที่เข้ามาในเว็บไซท์หรือเก็บข้อมูลของเว็บไซท์อื่นที่ผู้ใช้บริการรายนั้นเข้าไปใช้บริการเพื่อทราบพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ทของลูกค้าหรือข้อมูลของเว็บไซท์อื่น ปัญหาที่น่าพิจารณา คือการนำเอาข้อมูลของลูกค้าหรือของเว็บไซท์อื่นมาใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาตสามารถทำได้หรือไม่ตามกฎหมายไทย ซึ่งอาจจะคล้ายคลึงกันกับการใช้โปรแกรม cookies เพื่อเก็บข้อมูลของลูกค้าที่เว็บไซท์โดยทั่วไปมักนิยมใช้โปรแกรมดังกล่าวกัน
อีกคำถามหนึ่งที่ถามกันเข้ามามาก คือ การที่ ผู้ประกอบการเว็บไซท์บางรายเปิดให้บริการประเภท Bulletin Board ให้ผู้ใช้บริการอินเตอร์น็ตเข้ามาตั้งกระทู้หรือบางทีก็นำเอาบทความของผู้อื่นมาตัดตอนและติดบนเว็บไซท์เพื่อให้คนวิจารณ์ทำได้หรือไม่ ปัญหาทั้งหมดนี้ผมจะมาให้คำตอบในครั้งหน้าอย่าลืมติดตามนะครับ--จบ--
-อน-