กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ
นักวิจัยไทยคิดค้นหุ่นยนต์ยามติดอาวุธปืนควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ตตัวแรก ของโลก ต้นทุน 70,000 บาท ไม่รวมค่าปืน หวังให้ควบคุมของมีค่าในพิพิธภัณฑ์และคลังแสงอาวุธปืน
ผศ.ดร.ปิติเขต สู้รักษา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง แถลงข่าว งานวิจัยหุ่นยนต์ รปภ. หรือหุ่นยนต์ยามควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ตตัวแรกของโลก โดย ผศ.ดร.ปิติเขต กล่าวว่า หุ่นยนต์ดังกล่าวใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่าเทเลโรบอต ซึ่งประเทศแรกที่คิดเทคโนโลยี นี้ได้คือออสเตรเลียเมื่อปี 2537 แต่หุ่นยนต์ดังกล่าวไม่มีการติดอาวุธ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหุ่นยนต์ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยใช้ในสถานที่ที่มีของสำคัญล้ำค่าเช่นในพิพิธภัณฑ์ หรือคลังแสงอาวุธของทหาร เป็นต้น โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวจะมีการติดตั้งกล้องที่ควบคุมผ่านระบบอินเทอร์เน็ตคอยจับภาพการเคลื่อนไหว หรือความร้อนที่ผ่านจอ และมีการติดตั้งอาวุธปืนที่มีระบบความคุมขั้นสุดท้ายก่อนสั่งยิงเป็นระบบอัตโนมัติ และระบบที่ควบคุมด้วยคนผ่านอินเทอร์เน็ต
“การตัดสินใจสั่งยิงขั้นสุดท้ายจะควบคุมด้วยคน หรือด้วยระบบอัตโนมัติก็ได้ ซึ่งจะควบคุมผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมี Password ซึ่งผู้ควบคุมจะอยู่ส่วนไหนของโลกก็สามารถควบคุมเครื่องนี้ได้ เราคิดว่า จะมีประโยชน์ แต่ก็ต้องในทางที่ดีที่จะมีการนำไปใช้ เช่น กรณีมีผู้บุกรุกเข้ามาในสถานที่ที่หวงห้าม หรือมีของมีค่าเป็นต้น” ผศ.ดร.ปิติเขต กล่าว และว่าหุ่นยนต์ รปภ.ดังกล่าวยังมีข้อด้อยที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เอง ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาต่อไปในอนาคต
ด้าน รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้นำเสนองานวิจัยหุ่นยนต์ HAPTIC ที่ใช้เทคโนโลยีระบบความจริงเสมือนแบบมีแรงป้อนกลับ ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้ผู้ใช้ได้รู้สึกว่าได้เข้าไปอยู่ในโลกเสมือน เป็นหุ่นยนต์ที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และด้านอุตสาหกรรม กล่าวคือเป็นหุ่นยนต์ที่จะทำการบันทึกตำแหน่งการเคลื่อนไหวและความรู้สึกต่างๆ จากผู้ชำนาญการและนำไปใช้ในการฝึกฝนให้กับคนก่อนที่จะไปใช้จริง เช่น ในทางการแพทย์ การผ่าตัดบริเวณที่สำคัญก็อาจมีการบันทึก การผ่าตัดของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแพทย์อาวุโสที่มีการผ่าตัดนับพัน ๆ ครั้งเอาไว้แล้วให้แพทย์ใหม่ ๆ ได้เรียนรู้ ก่อนไปผ่าตัดจริง ซึ่งก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเป็นหนูทดลองของแพทย์อีกต่อไป
“ผมเปรียบเทียบกับการตีกอล์ฟของไทเกอร์ วู้ด ที่หากให้หุ่นยนต์ HAPTIC เก็บบันทึกการตีของเขาไว้ทุกครั้งได้ในแต่ละระยะ ทั้งลีลา ความรู้สึก แล้วนำมาฝึกกับคนได้ หากตีเกิน หรือขาดไป เครื่องก็จะบังคับให้ตีได้ในแบบเดียวกับไทเกอร์ วู้ด เป็นต้น” รศ.ดร.ชิต กล่าว
รศ.ดร.ชิต กล่าวด้วยว่า ไม่ได้คาดหวังให้คนไทยสามารถคิดค้นประดิษฐ์หุ่นยนต์ HAPTIC ได้ เพียงแต่ต้องการให้มีผู้รู้และสามารถใช้หุ่นยนต์เหล่านี้เป็น เพราะเราคงไม่สามารถไปแข่งขันการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งเหล่านี้กับประเทศใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่นได้ เนื่องจากนักวิจัยไทยไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากภาครัฐ--จบ--
-นศ-
- ม.ค. ๒๕๖๘ OCEAN LIFE ไทยสมุทร จับมือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ลงนาม MOU สร้างความร่วมมือทางวิชาการ และพัฒนาองค์ความรู้ด้านประกันภัย
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: EPG ร่วมกับ IRPC และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ บริจาคตู้ตรวจเชื้อให้รพ.สงฆ์
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: ฟินันเซีย ไซรัส ร่วมกับ สจล. จัดโครงการ Fin Tech Startup สำหรับนักศึกษา IT