อย.เตือนนักโด๊ปวิตามินมากเกินเหตุอาจเกิดอันตรายได้

ศุกร์ ๐๔ สิงหาคม ๒๐๐๐ ๑๒:๓๔
กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--อย.
เตือนผู้นิยมบริโภควิตามิน ควรแน่ใจว่าขาดวิตามินนั้นจริง ๆ เพราะการบริโภคมากโดยไม่มีความจำเป็น อาจทำให้ร่างกายได้รับวิตามินเกิน เกิดอันตรายได้ พร้อมแนะนักโด๊ปวิตามินต้องบริโภคสารอาหารอื่นให้ครบถ้วนด้วย ไม่ควรอาศัยแค่วิตามินอย่างเดียว ส่วนผู้นิยมใช้ยาแผนโบราณ ต้องสังเกตเลขทะเบียนตำรับยาก่อนซื้อและใช้ เพราะแสดงว่าผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้วภญ.อังกาบ เวสโกสิทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่นิยมบริโภควิตามิน โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงขึ้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องว่า วิตามิน ถึงแม้จะเป็นสารที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อร่างกาย โดยช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการเผาผลาญอาหารเป็นไปอย่างปกติ แต่ร่างกายก็ต้องการวิตามินในปริมาณที่พอเหมาะพอควรเท่านั้น ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพราะถ้าร่างกายขาดหรือได้รับวิตามินมากเกินไป จะทำให้เกิดความผิดปกติในกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกายได้ กรณีของผู้บริโภคที่คิดว่าตนเองมีอาการขาดวิตามิน และต้องการชดเชยโดยการซื้อวิตามินมาบริโภคนั้น ควรใช้ความระมัดระวังให้มาก เพราะอาการที่เหมือนกับการขาดวิตามิน อาจเนื่องมาจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ เช่น อาการชา นอกจากจะเกิดจากการขาดวิตามินบี 1 แล้ว อาจเกิดได้จากการไหลเวียนของโลหิตไม่สะดวกจากการนั่งหรือนอนผิดท่า อยู่ในท่าเดิมนานเกินไป หรือการถูกอากาศเย็นจัด หรือมีอาการของโรคบางอย่าง เช่น ปลายประสาทอักเสบ หรือกรณีที่มีอาการตาฟาง ตามัว นอกจากจะขาดวิตามิน เอ แล้ว ก็อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่นกัน เช่น ในคนแก่ อาจเป็นต้อกระจก ต้อหิน หรือสายตายาว ดังนั้น ก่อนที่จะรับประทานวิตามินตัวใดตัวหนึ่งควรแน่ใจเสียก่อนว่าเกิดจากการขาดวิตามินนั้นจริง ๆ เพราะการซื้อวิตามินมารับประทานโดยไม่มีความจำเป็น อาจทำให้ได้รับวิตามินมากเกินไป เกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี เค จะเกิดการสะสมส่วนใหญ่ที่ตับ ทำให้เกิดเป็นพิษได้ ส่วนวิตามินที่ละลายในน้ำ แม้ส่วนใหญ่จะถูกกำจัดออกทางปัสสาวะ ไม่สะสมในร่างกาย แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง สามารถรับประทานอาหารได้ครบทั้ง 5 หมู่ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานวิตามินเพิ่ม เพราะอาจเกิดโทษจากการได้รับวิตามินเกินได้ ที่สำคัญ พึงระลึกไว้เสมอว่า แม้วิตามินจะจำเป็นต่อร่างกาย แต่ร่างกายก็ยังต้องการสารอาหารอื่น ๆ ด้วย เช่น โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ถั่ว ไขมันจากสัตว์และพืช คาร์โบไฮเดรตจากข้าว แป้ง น้ำตาล ให้ครบถ้วน เพียงพอทุกวันด้วยภญ.อังกาบ เวสโกสิทธิ์ รองเลขาธิการฯ กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า สำหรับผู้บริโภคที่นิยมใช้ยาแผนโบราณ ก่อนซื้อมาใช้ควรสังเกตว่ามีเลขทะเบียนตำรับยาบนฉลาก ได้แก่ G_/_ (สำหรับตำรับยาผลิต) , H_/_ (สำหรับตำรับยาแบ่งบรรจุ) , K_/_ (สำหรับตำรับยานำสั่ง) ซึ่งแสดงว่าผ่านการพิจารณาตรวจสอบจาก อย.แล้ว เนื่องจากยาแผนโบราณที่พบในปัจจุบันบางผลิตภัณฑ์มีการผสมยาแผนปัจจุบัน เช่น สเตียรอยด์ ยาแก้ปวด ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นยาที่ผิดกฎหมาย ไม่ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับยากับ อย. ดังนั้น การใช้ยาควรสังเกตเลขทะเบียนให้ดี เพื่อความปลอดภัย และหากผู้บริโภคมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับยาแผนโบราณ สามารถสอบถามมายัง อย. โทร 590-7163 ได้ ในวันและเวลาราชการ--จบ--
-สส-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ