กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--กทม.
ที่บริเวณโครงการก่อสร้างถนนศรีอยุธยา — อโศกดินแดง นายสหัส บัณฑิต รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสนั่น โตทอง ผู้อำนวยการสำนักการโยธา และคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างถนนศรีอยุธยาถึงถนนอโศก —ดินแดง (เลียบบึงมักกะสัน ) ความยาว 2 .4 กิโลเมตร ซึ่งลักษณะของโครงการมีส่วนประกอบดังนี้ 1. สะพานข้ามทางแยก จากถนนศรีอยุธยาข้ามถนนราชปรารภ ขนาด 4 ช่องจราจร ถึงบริเวณบึงมักกะสัน 2. ทางยกระดับเหนือบึงมักกะสัน ใต้ทางด่วนขั้นที่ 2 ต่อจากสะพานข้ามทางแยก ขนาด 6 ช่องจราจร ความยาว 1600 เมตร 3. ถนนเชื่อมจากทางยกระดับใต้ทางด่วนขั้นที่ 2 ถึงแยกถนนประชาสงเคราะห์ ขนาด 4 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 650 เมตร 4.ถนนเชื่อมไปยังถนนใกล้เคียง ได้แก่ ถนนเชื่อมไปยังถนนใต้ทางด่วนขั้นที่ 1 ถนนเชื่อมในอนาคตไปยังถนนนิคมมักกะสัน 5.ที่กลับรถ 2 แห่ง เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการใช้สัญญานไฟจราจรทางแยก และ6.ปรับปรุงทางแยกและบริเวณต่อเนื่อง
นายสหัส กล่าว่า โครงการจตุรทิศตะวันออก ช่วง ข.หรือโครงการก่อสร้างถนนศรีอยุธยาถึงอโศก — ดินแดง นั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจตุรทิศตามแนวพระราชดำริเพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร โดยโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2544 ซึ่งเส้นทางถนนศรีอยุธยาถึงอโศก-ดินแดง เริ่มต้นจากช่วงหน้าโรงพยาบาลพญาไท 1 ไปประมาณ 1.8 กิโลเมตร จะมีทางแยกออกเป็น 2 เส้นทางคือ
1. จะแยกไปเชื่อมต่อกับโครงการจตุรทิศตะวันออก ช่วง ค. และ
2. เลี้ยวซ้ายไปปลายถนนจะเชื่อมต่อกับแยกประชาสงเคราะห์
ทั้งนี้เนื่องจากการก่อสร้างโครงการนี้มีบางส่วนก่อสร้างเสร็จแล้วคือช่วงตั้งแต่บริเวณหน้าโรงพยาบาลพญาไท 1 ถึงแยกประชาสงเคราะห์ (ถนนประชาสงเคราะห์ตัดกับ ถนนดินแดง)จะช่วยแก้ไขและแบ่งเบาการจราจรของถนนราชปรารภ ถนนดินแดง และ รวมถึงใกล้เคียง ทั้งนี้กทม.และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการประสานงานกันและเห็นว่าควรจะเปิดทดลองใช้เส้นทางนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544
เพื่อเป็นการแบ่งเบาการจราจรในถนนราชปรารภและถนนดินแดง โดยจะเปิดให้เดินรถทางเดียวขาอออกจากช่วงถนนศรีอยุธยาถึงแยกประชาสงเคราะห์ พร้อมกันนี้มีการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างและสัญญานไฟเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เส้นทาง อย่างไรก็ดีประชาชนผู้ใช้เส้นทางก็สามารถเลี้ยวขวา ที่แยกประชาสงเคราะห์เพื่อเดินทางไปถนนพระราม 9 , ตรงเข้าถนนประชาสงเคราะห์และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนดินแดง ได้
อนึ่ง โครงการจตุรทิศเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริเพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร โดยฝั่งตะวันตกเริ่มจากโครงการพระราชดำริทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้าและถนนบรมราชชนนี โครงการสะพานพระราม 8 ฝั่งตะวันออกเริ่มจากถนนราชดำเนินนอกด้วยโครงการจตุรทิศตะวันออกช่วง ก.(โครงการปรับปรุงถนนศรีอยุธยาจากถนนราชดำเนินนอกถึงถนนสวรรคโลก) โครงการจตุรทิศตะวันออก ช่วง ข. (โครงการก่อสร้างถนนเลียบบึงมักกะสัน) โครงการจตุรทิศตะวันออก ช่วง ค. (โครงการก่อสร้างถนนจากถนนเลียบบึงมักกะสัน-ถนนเลียบคลองบางกะปิ) โครงการจตุรทิศตะวันออก ช่วง ง.(โครงการก่อสร้างถนนใต้ทางด่วนจากถนนเลียบคลองบางกะปิ-ถนนพระราม 9) และโครงการสะพานข้ามทางแยกถนนรามคำแหง-ถนนพระราม 9 เข้าสู่ถนนพระราม 9 ตัดใหม่ต่อไปจนถึงถนนกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ เมื่อโครงการทั้งหมดนี้แล้วเสร็จ จะทำให้การเดินทางระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความรวดเร็วและลดปัญหาการจราจรติดขัด อีกทั้งเป็นการช่วยแบ่งเบาการจราจรในถนนใกล้เคียงที่ไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ถนนพญาไท ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี ถนนดินแดง ถนนพระราม 9 และถนนรัชดาภิเษก อีกด้วย--จบ--
-นห-