กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ความรู้สำหรับประชาชนเรื่อง "มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์อาทิตย์ อังกานนท์มะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ Leukemia เป็นโรคที่พบได้ในคนทุกอายุ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา มะเร็งชนิดนี้เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดชนิดผิดปกติออกมามากจนเกินไป ในขณะเดียวกันเม็ดเลือดที่ผิดปกตินี้ ก็จะไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติ ทำให้จำนวนเม็ดเลือดที่ดีมีน้อยลง
ปกติแล้วเม็ดเลือดเกือบทุกชนิดในร่างกายถูกสร้างขึ้นมาจากไขกระดูก ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ในแกนกลางของกระดูกทั่วไป ในคนปกติจะมีเม็ดเลือดอยู่หลายชนิด เช่น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกร็ดเลือด เป็นต้น เม็ดเลือดแต่ละชนิดจะมีอายุขัยในร่างกายคนแตกต่างกันไป เช่น เม็ดเลือดแดงมีอายุ 120 วัน เม็ดเลือดขาวมีอายุ 2-3 สัปดาห์ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีการสร้างเม็ดเลือดใหม่ ๆ ขึ้นมาชดเชยเม็ดเลือดเก่าที่หมดอายุอยู่ตลอดเวลา การสร้างเม็ดเลือดอยู่ตลอดนี้ เกิดขึ้นได้จากการแบ่งตัวของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับการแบ่งตัวเหล่านี้ เช่น ได้รับสารรังสี สารเคมี หรือไวรัสบางชนิด การแบ่งตัวจะผิดปกติไป หากร่างกายไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวที่ผิดปกติเหล่านี้ไว้ได้ จำนวนเม็ดเลือดที่เกิดผิดปกติก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ และเกิดภาวะมะเร็งขึ้น
เมื่อเกิดภาวะมะเร็งเม็ดเลือดขาวขึ้น จะเกิดการรบกวนการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดปกติ ทำให้เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือดถูกสร้างได้น้อยลง ผู้ป่วยก็จะมีอาการซีดลง มีจุดจ้ำเลือดขึ้นตามตัว หรือมีเลือดออกจากเยื่อบุต่าง ๆ ในร่างกาย อันเป็นผลจากการสร้างเกร็ดเลือดต่ำลง มีไข้ และอาจติดเชื้อรุนแรง เนื่องจากเม็ดเลือดขาวปกติซึ่งจะทำหน้าที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ มีปริมาณลดลง และเนื่องจากมะเร็งเลือดขาวเป็นมะเร็งที่เกิดกับเลือด ซึ่งไหลเวียนไปทั่วร่างกาย มะเร็งที่เกิดขึ้นจึงกระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วตั้งแต่แรกเป็น ดังนั้นมะเร็งเม็ดเลือดขาวจึงไม่มีการแบ่งระยะของโรค
สาเหตุ
สาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาวเกิดจากความผิดปกติของการแบ่งตัว ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมดังกล่าวข้างต้น ส่วนสาเหตุที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความผิดปกตินั้น ในปัจจุบันเชื่อว่าเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น รังสีจากสารกัมมันตรังสีที่ได้รับในปริมาณที่ไม่ถึงกับทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นกับหน่วยพันธุกรรมของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เมื่อเวลาผ่านไป 5-10 ปี ความเสียหายบางอย่างอาจขยายตัวขึ้นได้ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งดังกล่าว และนอกเหนือจากกัมมันตรังสีแล้ว สารเคมีจำพวกสารระเหยบางชนิด ยา หรือไวรัสบางชนิดก็อาจเป็นต้นเหตุได้เช่นกัน
มะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถแบ่งเป็นชนิดใหญ่ ๆ ได้ 2 วิธี โดยแบ่งตามความรวดเร็วในการเกิดโรคและแบ่งตามชนิดของเซลล์มะเร็ง การแบ่งตามความรวดเร็วในการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง ข้อแตกต่างระหว่าง 2 ชนิดนี้คือ
ถ้าเป็นชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการที่เม็ดเลือดชนิดปกติมีจำนวนลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะมีอาการซีด มีไข้ขึ้น หรือมีจุดจ้ำเลือดขึ้นตามตัวอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือนหลังจากเป็นโรค
ส่วนในชนิดเรื้อรัง เซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นจะยังพอทำหน้าที่แทนเซลล์ปกติได้บ้าง และการรบกวนการสร้างเซลล์ปกติไม่มากนัก ผู้ป่วยจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป มักจะมีเม็ดเลือดขาดมาก มีตับม้ามโต หรือต่อมน้ำเหลืองโตได้เป็นปี ๆ
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถทำได้ค่อนข้างง่ายจากการดลักษณะเม็ดเลือดที่ได้จากการเจาะเลือดตามปกติ (เรียกว่าการตรวจ Complete blood count (CBC) ผู้ตรวจที่มีความชำนาญสามารถให้การวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วจากการดูสไลด์เพียงแผ่นเดียว อย่างไรก็ดีมีความจำเป็นต้องตรวจเลือดจากไขกระดูกเพิ่มเติมเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอนมากขึ้น การเจาะไขกระดูกดังกล่าวทำให้โดยใช้เข็มฉีดยาขนาดใหญ่ดูดเลือดจากไขกระดูกบริเวณสะโพก หรือบริเวณกลางหน้าอก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรม หรือทางโลหิตวิทยาจะสามารถให้การวินิจฉัยได้
การรักษา
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแตกต่างกันไปตามชนิดของมะเร็ง และสภาพของผู้ป่วยแต่ละคนหากเป็นชนิดเรื้อรัง แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดแบบรับประทานเพื่อให้จำนวนเม็ดเลือดที่ผิดปกติลดลง และขนาดของตับม้ามลดลงในเวลาที่เหมาะสม การให้ยารับประทานอาจมีการปรับขนาดของยาบ้างตามจำนวนเม็ดเลือดขาว แต่จะให้ไปเรื่อย ๆ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังถึงแม้จะมีอาการไม่มาก แต่เป็นมระเร็งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว วิธีที่อาจรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังให้หายขาดและได้ผลดีได้ คือการปลูกถ่ายไขกระดูก
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันมีเป้าหมายคือต้องการให้โรคเข้าสู่ระยะสงบ (Remission) ระยะสงบเป็นระยะที่จำนวนของเซลล์มะเร็งลดลง และเซลล์ปกติมีจำนวนและหน้าที่กลับมาเป็นปกติ ผู้ป่วยที่เข้าสู่ระยะสงบจะอยู่ในระยะนี้ได้ประมาณ 3-9 เดือน หลังจากนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลับเป็นโรคใหม่ (Relapse)
การรักษาเพื่อให้เข้าสู่ระยะสงบนั้นรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ขนาดค่อนข้างสูงเข้าทางเส้นเลือด หลักจากให้ยาผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง และเม็ดเลือดต่ำลง ทำให้ติดเชื้อง่ายและมีไข้ ระยะนี้เป็นระยะที่เกิดภาวะแทรกซ้อนและอันตรายถึงชีวิตได้ง่าย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะต้องอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อให้ยาปฏิชีวนะ และให้เลือดประมาณ 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นหากผู้ป่วยไม่เสียชีวติจากภาวะแทรกซ้อน ก็จะฟี้นตัวเข้าสู่ระยะสงบ ระยะนี้เป็นระยะที่ผู้ป่วยจะมีอาการปกติเหมือนตอนก่อนจะป่วย แต่เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลับเป็นโรคใหม่ จึงต้องให้การรักษาเพื่อที่จะป้องกันการกลับเป็นโรคใหม่ โดยการให้ยาเคมีบำบัดซ้ำในขนาดสูง หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก ดังนั้นผู้ป่วยแต่ละรายมักจะต้องได้เคมีบำบัดหลายรอบหลายครั้ง โดยทั่วไปประมาณ 3-6 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 2-3 เดือน ในปัจจุบันเราสามารถรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันให้หายขาดได้ประมาณ 1 ใน 3 ถึง 1 ใน 2 ของผู้ป่วยทั้งหมด การที่ผู้ป่วยแต่ละรายจะหายขาดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างแต่ที่สำคัญที่สุดคืออายุและสภาพร่างกายของผู้ป่วย และชนิดความผิดปกติทางพันธุกรรมของมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ผู้ป่วยเป็น
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
พื้นฐานของสาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คล้ายคลึงกับสาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ได้กล่าวไปแล้วเพียงแต่ว่าเซลล์ที่เกิดเป็นมะเร็งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่อยู่ในต่อมน้ำเหลือง (Lymphocyte) เซลล์ชนิดนี้ปกติทำหน้าที่เป็นตัวสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย ดังนั้นจึงพบได้ในอวัยวะอื่น ๆ นอกเหนือจากต่อมน้ำเหลืองด้วย ได้แก่ ลำไส้ ปอด จมูก ไขกระดูก หรือแม้แต่ระบบประสาท ดังนั้นมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองจึงอาจเกิดได้ทุกที่ที่มีเซลล์ Lymphocyte ดังกล่าวอยู่
อาการ
อาการสำคัญของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองคือเป็นก้อนในตำแหน่งที่เป็น เช่น ต่อมน้ำเหลือง หรือก้อนตามอวัยวะต่าง ๆ ผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีอาการทางระบบเลือด หากไม่มีการแพร่กระจายของมะเร็งเข้าไปในไขกระดูก แพทย์จะให้การวินิจฉัยได้โดยการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนนั้น ๆ ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองไม่แพร่กระจายเร็งเหมือนมะเร็งเม็ดเลือดขาว เราจึงสามารถแบ่งระยะของโรคได้เป็น 4 ระยะ ตั้งแต่ระยะแรกที่เป็นที่ต่อมน้ำเหลืองกลุ่มเดียว ไปจนถึงระยะที่ 4 ที่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเข้าไปในอวัยวะอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ต่อมน้ำเหลือง ดังนั้นหลังจากการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจจนได้การวินิจฉัยแล้ว แพทย์ยังจะต้องตรวจเพิ่มเติมว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะใด การตรวจเพิ่มเติมเหล่านี้ได้แก่ เอกซเรย์ปอด ตรวจช่องท้องด้วยอัลตราซาวน์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตลอดจนการตรวจไขกระดูก
เราสามารถแบ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้เป็น 2 ชนิด ตามชนิดของเซลล์มะเร็ง คือชนิด Hodgkin's disease และชนิด Non Hodgkin Lymphoma มะเร็งชนิด Hodgkin's disease มีอัตราการแพร่กระจายที่ค่อนข้างช้า และมักจะแพร่กระจายไปตามอวัยวะข้างเคียง ดังนั้นหากเป็นระยะแรก อาจให้การรักษาได้ทั้งวิธีฉายแสง และการให้เคมีบำบัด แต่หากเป็นระยะที่เป็นมาก ก็ต้องใช้วิธีการให้เคมีบำบัดเป็นหลัก ส่วนมะเร็งชนิด Non Hodgkin's Lymphoma นั้นมักแพร่กระจายค่อนข้างเร็ว ดังนั้นจึงต้องใช้เคมีบำบัดเป็นหลักในการรักษาไม่ว่าจะอยู่ในระยะใด และอาจต้องใช้การฉายแสงเข้าช่วยด้วย หากมีก้อนที่ใหญ่มาก
การรักษา
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่จัดได้ว่ามีการตอบสนองต่อการรักษาดีกว่ามะเร็งของอวัยวะอื่น ผู้ป่วยที่อายุน้อยและแข็งแรง สามารถหายขาดจากโรคนี้ได้มากกว่า 60% หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม สำหรับเคมีบำบัดที่ให้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะไม่แรงเท่าเคมีบำบัดที่ให้ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ดังนั้นจึงสามารถให้ได้โดยไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล เราจำเป็นต้องให้เคมีบำบัดซ้ำ ๆ กัน ทุก 3-4 สัปดาห์ ประมาณ 6-8 ครั้ง เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ผลข้างเคียงของเคมีบำบัดที่อาจเกิดขึ้นคือการแพ้ยา คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง และมีเม็ดเลือดขาวต่ำลง เหมือนในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว
ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัดสูตรแรก ยังมีโอกาสจากการใช้เคมีบำบัดสูตรที่ 2 แต่โอกาสของผู้ป่วยจะดีที่สุดในการรักษาด้วยยาสูตรแรก ดังนั้นเมื่อให้การรักษาไป 1-2 ครั้ง และก้อนยุบลง ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องมารับเคมีบำบัดต่อตามแพทย์นัดจนกว่าแพทย์จะสั่งให้หยุดยา เพราะหากได้ยาไม่ครบและมีก้อนขึ้นเป็นซ้ำใหม่ จะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ยากมาก การปลูกถ่ายไขกระดูกเข้ามามีบทบาทในการรักษาโรคนี้เช่นกัน โดยเป็นการรักษาในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อเคมีบำบัดแบบปกติ หรือ ผู้ป่วยที่กลับเป็นซ้ำ แต่ขั้นตอนการรักษาจะยุ่งยากกว่าการให้เคมีบำบัดครั้งแรก ๆ มาก--จบ--
-อน-
- ๑๗ พ.ย. "พีไฟว์กรุ๊ป" ร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อมูลนิธิรามาธิบดีโครงการสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี
- ๑๗ พ.ย. KMA อบรมแต่งหน้า Dramatic Stage makeup
- ๑๘ พ.ย. โครงการผ่าตัดตาต้อกระจก เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว