กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--สพช.
โครงการรวมพลังหาร 2 จัดทำต้นแบบตู้เย็นประสิทธิภาพพลังงาน 4 รุ่น พัฒนาแล้วสามารถประหยัดไฟฟ้าได้มากกว่าเบอร์ 5 ถึง 15-35% เริ่มประกาศใช้เป็นมาตรฐานในปี 47 คาดประหยัดเกินคุ้ม
ดร.พงษ์พิสิฏฐ์ วิเศษกุล ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) กล่าวว่า สพช. ได้ร่วมมือกับสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมตู้เย็น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำการศึกษาและจัดทำต้นแบบตู้เย็นประสิทธิภาพสูง เพื่อเป็นต้นแบบให้บริษัทผู้ผลิตในประเทศได้ใช้เป็นมาตรฐานในการผลิตและจำหน่ายต่อไป
โดยมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานไฟฟ้าขั้นต่ำสำหรับตู้เย็น ได้เสนอให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายนั้นได้เสนอไว้ 2 ระดับ โดยมาตรฐานระดับแรกจะประหยัดกว่าของเดิม 15% ให้มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2547 และมาตรฐานระดับที่สองจะประหยัดขึ้นอีก 15% ให้มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) รับไปดำเนินการกำหนดให้เป็นมาตรฐานสำหรับตู้เย็นที่ผลิตขายภายในประเทศ และตู้เย็นที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วยในส่วนของเทคนิคการพัฒนาตู้เย็นให้ประหยัดพลังงานที่ สพช.ได้ดำเนินการอยู่นั้น ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ภายนอกเลย แต่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบภายในเพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน เช่น เพิ่มความยาวของแผงระบายความร้อน (Condenser Tube) การใช้คอมเพรสเซอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น การปรับความยาวของท่อลดความดันให้เหมาะสม และเพิ่มความหนาของฉนวนกันความร้อน เป็นต้น โดยขณะนี้ได้จัดทำต้นแบบเสร็จแล้ว พร้อมที่จะให้ผู้ผลิตนำไปผลิตขายในท้องตลาดได้
สำหรับการจัดทำตู้เย็นประสิทธิภาพสูงนี้ ได้เลือกจัดทำตู้เย็นรุ่นและขนาดที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในครัวเรือน 2 ประเภท จำนวน 4 รุ่น โดยประเภทแรก เป็น ตู้เย็น 1 ประตูแบบละลายน้ำแข็งกึ่งอัตโนมัติ 2 รุ่น คือ ขนาดความจุ 5 คิวและ 7 คิว ประเภทที่ 2 เป็นตู้เย็นแบบ 2 ประตูแบบละลายน้ำแข็งอัตโนมัติ มี 2 รุ่นคือ ขนาดความจุ 10 คิว และ 15 คิว
จากการทำการศึกษาตู้เย็นต้นแบบโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า รุ่นประตูเดียว ก่อนการพัฒนาจะกินไฟวันละ 0.70 หน่วย หลังการพัฒนากินไฟวันละ 0.58 หน่วย ประหยัดขึ้น 17% หรือปีละ 109 บาท/ปี ขณะที่จะมีต้นทุนสูงขึ้น 200-500 บาท ซึ่งใช้ภายใน 2 ปีก็จะคุ้มทุน ส่วนในประเภท 2 ประตู ก่อนการพัฒนาจะกินไฟวันละ 1.74 หน่วย หลังการพัฒนากินไฟวันละ 1.13 หน่วย ประหยัดขึ้น 35% หรือปีละ 556 บาท/ปี ขณะที่จะมีต้นทุนสูงขึ้น 500-1,000 บาท ซึ่งใช้ภายใน 2 ปีก็จะคุ้มทุนเช่นกัน
นอกจากนี้สถาบันไฟฟ้าฯ ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อผู้บริโภค ผู้ผลิต และประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมชี้ให้เห็นว่า มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคในทุกๆ ขั้นของมาตรฐาน กล่าวคือผู้บริโภคจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากกว่าต้นทุนราคาที่เพิ่มขึ้น โดยประมาณ 2 ปีก็จะคุ้มทุน ขณะที่อายุการใช้งานของตู้เย็นประมาณ 15 ปี สำหรับผลกระทบต่อผู้ผลิตนั้น มาตรฐานฯ ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 จะส่งผลต่อผู้ผลิตบ้างไม่มาก ด้านผลประโยชน์โดยรวม ตามกรณีศึกษา ตั้งแต่มาตฐานขั้นที่ 1 มีผลบังคับใช้ในปี 2547 ถึงปี 2554 พบว่าจะสามารถช่วยให้ประเทศประหยัดค่าเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 0.6-1.1 พันล้านบาท ช่วยลดความต้องการไฟฟ้าได้ถึง 80-160 เมกกะวัตต์ และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 3-6 แสนตัน
อนึ่งสำหรับการกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานไฟฟ้าขั้นต่ำของเครื่องใช้ไฟฟ้าได้กำหนดไว้ 6 ประเภท จะมีการทยอยประกาศใช้โดย สมอ. ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ มอเตอร์ บัลลาส(สำหรับหลอดฟลูออเรสเซ็นต์) หลอดฟลูออเรสเซ็นต์ และหลอดคอมแพคหลอดฟลูออเรสเซ็นต์
ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2 โทรศัพท์ 0 26121555 ต่อ 201-5 โทรสาร 0 2612 1368121/1-2 ถ.เพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 www.nepo.go.th-- จบ--
-อน-