ผลการเจรจากับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเรื่องสิทธิผูกขาดยา

อังคาร ๑๐ กรกฎาคม ๒๐๐๑ ๑๓:๕๓
กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--อย.
ฝ่ายสหรัฐนำโดย นายฟิลิป อะเกรสส์ (Philip Agress) รักษาการรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกของสหรัฐ ได้พบปะเจรจากับเลขาธิการ อย. โดยได้แจ้งประเด็นที่จะเจรจาล่วงหน้า 4 เรื่อง ได้แก่
1. เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับบัญชียาหลักแห่งชาติ
2. เรื่องนโยบายราคายา
3. เรื่องนโยบายการนำเข้ายา
4. เรื่องสิทธิผูกขาดยากับระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยของยาใหม่
การเจรจาเริ่มเวลา 16.10 น. และเลิกเวลา 19.10 น. วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2544 ฝ่ายสหรัฐได้หยิบยกเรื่องที่ 4 ขึ้นมาเจรจาก่อนโดยแยกเป็น 2 ประเด็น
ประเด็นแรก สหรัฐเสนอว่า มติคณะกรรมการยาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2544 ที่กำหนดให้ยาที่ได้รับสิทธิผูกขาดย้อนหลัง (ยาที่จดทะเบียนสิทธิบัตรครั้งแรกในประเทศอื่นในช่วง 1 มกราคม 2529 - 30 กันยายน 2534 ซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Pipeline Products) ก่อนการประกาศใช้ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2535 ให้บริษัทเจ้าของสิทธิผูกขาดต้องแจ้งรายชื่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ต่อ อย.ภายใน 180 วัน ซึ่งจะถึงกำหนดราวปลายเดือนกรกฎาคม 2544 พ้นกำหนดดังกล่าวถือว่าสละสิทธิ์ นั้น เป็นการละเมิดข้อตกลงที่ไทยเคยมีต่อสหรัฐ รวมทั้งกระทบต่อเรื่องความลับทางการค้า และกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทยาสหรัฐด้วยประเด็นนี้ อย.ไทยยืนยันว่า มติคณะกรรมการยาดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดข้อตกลงที่ไทยเคยมีต่อสหรัฐ แต่เป็นมาตรการที่จำเป็นทางการบริหารเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิผูกขาดดังกล่าวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สิ่งที่ อย.ไทยต้องการให้บริษัทแจ้ง เพียงแค่ชื่อผลิตภัณฑ์ ประเทศแรกที่จดทะเบียนสิทธิบัตร และวันที่จดทะเบียนสิทธิบัตร ซึ่งไม่มีข้อมูลใดเป็นความลับทางการค้า และไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระที่เกินสมควร (considerable effort) แก่บริษัทยา รวมทั้งไม่กระทบต่อกลยุทธ์ทางการตลาดแต่อย่างใด เพราะไม่ผูกพันว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องมาขึ้นทะเบียนจำหน่ายในประเทศไทย และข้อมูลเหล่านั้นจะเก็บรักษาเป็นความลับโดยเคร่งครัด
ประเด็นนี้ได้ข้อยุติเบื้องต้นว่า จะมีการเจรจากันต่อไประหว่าง อย.กับสถานทูตสหรัฐ
ประเด็นที่สอง สหรัฐเสนอว่าเดิมบริษัทยาบางบริษัทเข้าใจว่ายาใหม่ที่มาขึ้นทะเบียนในประเทศไทยและอยู่ระหว่างการติดตามความปลอดภัย (Safety Monitoring Program : SMP) จะได้รับสิทธิผูกขาดโดยอัตโนมัติ แม้มิใช่ยาที่มีสิทธิบัตรหรือหรือได้รับสิทธิผูกขาดย้อนหลัง บริษัทเหล่านี้ขอเวลาในการปรับตัวโดยในช่วงที่ พ.ร.บ.ความลับทางการค้ายังไม่ประกาศใช้ ขอให้ อย.ผ่อนผันให้ได้รับสิทธิผูกขาดต่อไป ประเด็นนี้ อย.ไทยยืนยันไม่สามารถให้สิทธิผูกขาดดังกล่าวได้ และยืนยันการรักษาความลับทางการค้าอย่างเคร่งครัดแม้ พ.ร.บ.ความลับทางการค้ายังไม่ประกาศใช้
สำหรับประเด็นที่ 1-3 ยังไม่มีการหยิบยกขึ้นเจรจา และยังไม่มีการแจ้งว่าจะมีการเจรจาอีกหรือไม่--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO