กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--กทม.
ที่บริเวณกลุ่มบ้านทรงไทย ซอยเจริญกรุง 43 เขตบางรัก เมื่อวันที่ 10 มี.ค.44 เวลา 09.00 น. นายสนั่น โตทอง ผู้อำนวยการสำนักการโยธา นายจุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยการกองรังวัดและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน นายบัญญัติ อินทราชา หัวหน้าฝ่ายจัดกรรมสิทธิ์ 4 นายศักดิ์ชัย บุญมา หัวหน้าจัดกรรมสิทธิ์ 1 กองรังวัดและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำนักการโยธา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เข้าทำการรื้อถอนโรงเรือน และสิ่งปลูกสร้างในแนวเขตเวนคืน เพื่อก่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนสี่พระยากับถนนสุรวงศ์ฯ
ผู้อำนวยการสำนักการโยธา เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้มีพระราชกฤษฏีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนสี่พระยากับถนนสุรวงศ์ และเพื่อขยายทางหลวง เทศบาลสายซอยเจริญกรุง 39 และสายซอยเจริญกรุง 43 พ.ศ.2541 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 12 ก. ลงวันที่ 11 มี.ค.41 มีผลบังคับใช้มีกำหนด 3 ปี และสิ้นสุดผลการบังคับใช้ในวันที่ 11 มี.ค.44 ต่อมาได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนสี่พระยากับถนนสุรวงศ์ และเพื่อขยายทางหลวงเทศบาลสายซอยเจริญกรุง 39 และสายซอยเจริญกรุง 43 เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน เมื่อวันที่ 27 ม.ค.43 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 117 ตอนพิเศษ 11 ง ลงวันที่ 4 ก.พ.43
ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวต่อว่า ในการดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีทรัพย์สินอยู่ในแนวเขตทางเป็นที่ดิน 16 แปลง โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างพร้อมพืชผลต้นไม้ 11 ราย คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาค่าทดแทนเบื้องต้นได้กำหนดราคาค่าทดแทนทั้งสิ้น 68,935,772 บาท ซึ่งในการดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์สามารถตกลงและเบิกจ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินแล้วเป็นที่ดิน 2 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 2 ราย ในส่วนที่เหลือที่ดิน 14 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 9 ราย เจ้าของทรัพย์สินไม่ยินยอมตามราคาที่คณะกรรมการกำหนด และบางส่วนไม่มาติดต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งในส่วนที่เหลือนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่บริเวณผายปากซอย เว้นแต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2049 เลขที่ดิน 117 แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ตามโฉนด 292 ตร.ว. ถูกแนวเขตทางประมาณ 244 ตร.ว. พร้อมกลุ่มอาคารเรือนทรงไทยเลขที่ 269 อาคารตึกแถว 2 ชั้น เลขที่ 269/1-5 และที่ดินโฉนดเลขที่ 14621 เลขที่ดิน 289 แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ตามโฉนด 11 ตร.ว. ถูกเวนคืนทั้งแปลง พร้อมอาคารเลขที่ 122/1 และขณะนี้กรุงเทพมหานครได้นำเงินค่าทดแทนที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้างพร้อมพืชผลต้นไม้ของเจ้าของกรรมสิทธิ์ฯ ทั้ง 2 ราย ดังกล่าว นำฝากธนาคารออมสิน สาขาดินแดงแล้ว ส่วนที่เหลือจะได้ขอให้สำนักงานงบประมาณจัดสรรนำฝากต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากที่ได้นำเงินค่าทดแทนดังกล่าวไปฝากไว้กับธนาคารออมสิน ผู้อำนวยการกองรังวัดและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในฐานะผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งกำหนดวันเข้าครอบครองและแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายดำเนินการรื้อถอนโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินดังกล่าวออกไปจากแนวเขตเวนคืนตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 เพื่อให้การจัดกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ตามโครงการนี้บรรลุเป้าหมายโดยสามารถส่งมอบพื้นที่เพื่อทำการก่อสร้างถนนสี่พระยาเชื่อมถนนสุรวงศ์ได้ภายในอายุพระราชกฤษฎีกาฯ จึงจำเป็นต้องเข้าดำเนินการรื้อถอนโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินที่อยู่ในแนวเวนคืนเมื่อเจ้าของทรัพย์สินไม่ได้รื้อย้ายภายในกำหนด--จบ--
-นห-
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ศูนย์การค้าเดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ร่วมกับ สำนักงานเขตสวนหลวงส่งมอบ “สะพานเดอะไนน์เชื่อมสัมพันธ์” ทางลอดใต้สะพานถนนพระราม 9
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: เปิดโครงการ รักษ์คลองยายสุ่นร่วมใจคืนน้ำใสสู่ชุมชน
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ยืนยันการขอใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงหรือต่อเติมอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด