กรุงเทพ--1 มี.ค.--กสท.
กสท. ปรับปรุงอัตราค่าบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ในประเทศ และค่าปฏิบัติการสำหรับบริการพัสดุไปรษณีย์เก็บเงินในประเทศ เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เพื่อลดภาระการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
นายธีระพงศ์ สุทธินนท์ ผู้ว่าการ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) กล่าวว่า กสท. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการให้บริการไปรษณีย์แก่ประชาชนทั่วประเทศและทั่วโลกด้วยอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่าต้นทุนการดำเนินงาน ทำให้ กสท. อยู่ในสภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องปีละกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่ง กสท. ไม่ได้มีการปรับปรุงอัตราค่าบริการและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ มาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอัตราค่าบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ในประเทศที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2536 เป็นอัตราที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนในการให้บริการ ประกอบกับ กสท. ได้พัฒนาปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพของบริการ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้งาน อาทิ ระบบการคัดแยกจดหมายอัตโนมัติ ระบบเคาน์เตอร์ไปรษณีย์อัตโนมัติ เป็นต้น เพื่อรองรับปริมาณงานและการขยายงานที่เพิ่มขึ้นทุกปี ตลอดจนมีการพัฒนาและควบคุมมาตรฐานของระบบงานทุกขั้นตอนตั้งแต่การรับฝาก ส่งต่อ และนำจ่ายให้มีประสิทธิภาพ จนกระทั่งได้รับใบรับรองคุณภาพมาตรฐาน ISO 9002 เป็นแห่งแรกในเอเชีย สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ในประเทศของ กสท. จะได้รับสิ่งของตามเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้ในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการพัสดุไปรษณีย์เก็บเงินในประเทศ (พกง.) และไปรษณีย์ด่วนพิเศษเก็บเงินในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ กสท. ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการเพิ่มสูงขึ้น กสท. จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงอัตราค่าบริการและเรียกเก็บค่าปฏิบัติการ (ค่าธรรมเนียม) ในการใช้บริการดังกล่าวให้สอดคล้องกับต้นทุนการให้บริการในปัจจุบัน เพื่อนำรายได้มาใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานและขยายขอบเขตการให้บริการให้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยให้มีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการส่วนใหญ่น้อยที่สุด ดังนี้
อัตราค่าบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ในประเทศ พิกัดน้ำหนักไม่เกิน 20 กรัมจากเดิม 15 บาท ปรับเป็น 20 บาท พิกัดน้ำหนักเกิน 20 กรัมแต่ไม่เกิน 100 กรัมจากเดิม 17 บาท ปรับเป็น 25 บาท ส่วนพิกัดน้ำหนักอื่น ๆ ปรับเพิ่มจากอัตราเดิมอีกพิกัดน้ำหนักละ 10 บาท
อัตรค่าปฏิบัติการสำหรับบริการพัสดุไปรษณีย์เก็บเงินในประเทศ (พกง.) รวมถึงไปรษณีย์ด่วนพิเศษเก็บเงินในประเทศ อัตรา 40 บาทต่อชิ้น ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 เป็นต้นไป--จบ