กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (21 พ.ค.44) เวลา 14.00 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายสมฤกษ์ วุฑฒิปรีชา ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายสุเมธ ชุนปรีชา รองผู้อำนวยการสำนักการคลัง และนายธีระ ประสิทธิพร ผู้อำนวยการ กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ร่วมแถลงข่าวเรื่องสถานะการเงินของกรุงเทพมหานคร และการให้บริการประชาชนของ กองโรงงานช่างกลในการตรวจสภาพรถควันดำ-ควันขาว พร้อมจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหา รถเสียบนท้องถนนในช่วงฝนตกน้ำท่วม
ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กล่าวถึงสถานะทางการเงินของกรุงเทพมหานครว่า ในปีงบประมาณ 44 กทม. ได้ประมาณการรายรับไว้เป็นเงิน 23,000 ล้านบาท รับจริง (ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 15 พ.ค.44) เป็นเงิน 8,670.38 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37.70 และได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2544 เป็นเงิน 23,000 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว (ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 15 พ.ค.44) เป็นเงิน 7,089.14 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30.82
สำหรับรายได้ของกทม. ซึ่งเป็นรายได้ประจำ มีอยู่ 5 ประเภท คือ 1.ภาษีอากร 2. ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าปรับและ ค่าบริการ 3. รายได้จากทรัพย์สิน 4. รายได้จากการสาธารณูปโภค การพาณิชย์ และกิจกรรมอื่น 5. รายได้เบ็ดเตล็ด โดยในส่วนของการจัดเก็บภาษีอากร มี 2 ประเภท คือ ภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเอง ได้แก่ ภาษีบำรุงท้องที่, ภาษีโรงเรือนและที่ดิน, ภาษีป้าย , อากรฆ่าสัตว์ และภาษีอากรที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มและธุรกิจเฉพาะ, ภาษีรถยนต์, ภาษีสุรา, ภาษีการพนัน, และภาษีสรรพสามิต สรุปในส่วนของรายได้ ณ วันที่ 15 พ.ค.44 กทม.จัดเก็บเองได้ 5,443.58 ล้านบาท คิดเป็น 85.06 % ส่วนราชการอื่นจัดเก็บส่งให้กรุงเทพมหานครได้ 3,226.79 ล้านบาท คิดเป็น 19.44 % นอกจากนี้กทม.ยังมีรายได้ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรมาให้กทม.ประมาณ ปีละ 7-8 พันล้านบาท โดยเป็นงานในหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งรัฐมอบให้กทม.ดำเนินการแล้วจัดสรรเงินมาให้ เช่น การจัดการศึกษา ตั้งแต่ ป1-ป6 การสร้างถนนหนทาง เป็นต้น
ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ภาษีอากรที่กทม.จัดเก็บเองดังกล่าว กทม.จัดเก็บได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ทุกปี ประมาณปีละ 15 % และไม่เคยมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีทั้งภาษีที่กทม.จัดเก็บเองหรือภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บแล้วแบ่งมาให้ส่วนท้องถิ่น แต่ในปีนี้มีปัญหาเกี่ยวกับรายรับของกรุงเทพมหานครที่จะได้รับจากการจัดเก็บของส่วนราชการอื่น คือภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยปัญหาเกิดจากการดำเนินการพิจารณาจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการกระจายเงิน อย่างไรก็ดี ขณะนี้การพิจารณาเรื่องนี้ได้ข้อยุติแล้ว โดยกทม. จะได้รับเงินภาษี VAT จำนวนประมาณ 8,200 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะจัดส่งให้กทม. แบ่งเป็น 2 งวด ๆ แรกประมาณ 2,300 ล้าน คาดว่าจะได้รับประมาณต้นเดือนมิ.ย.44 และงวดที่สองจะได้รับอีกประมาณ 3 เดือนข้างหน้า
ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ากทม.ไม่มีเงินสำหรับจ่ายเป็นเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร นั้น ขณะนี้กทม.มีเงินสะสมอยู่ประมาณ 5,000 ล้านบาท ที่สามารถนำมาใช้ได้ ทั้งนี้ได้มีการหารือกับคณะผู้บริหาร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เพื่อขอยืมเงินสะสมมาใช้เป็นเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างกทม. จำนวน 2,145 ล้านบาท ซึ่งเดือนนี้ เป็นเดือนสุดท้ายที่จะขอยืมเงินสะสมจ่ายเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างกทม. ส่วนเงินที่ใช้ในการบริหารงานทางด้านการพัฒนาต่างๆ กทม.จะใช้เงินที่มาจากรายได้แหล่งต่างๆของกทม. ซึ่งจะทำให้งานของกรุงเทพมหานครไม่สะดุด และเมื่อได้รับเงินภาษี VAT ในต้นเดือนหน้า ก็จะมาพอดีกับช่วงจังหวะที่ทำให้งบฯของกทม.ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
ด้านรองผู้อำนวยการสำนักการคลัง กล่าวด้วยกว่า กทม. ได้มีแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ โดยจัดทำ โครงการแผนที่ภาษี และโครงการเดินสำรวจเพื่อขยายฐานภาษี ซึ่งได้ดำเนินการใน 3 เขต คือ เขตป้อมปราบฯ เขตลาดพร้าว และเขต บางพลัด รวมทั้งจัดทำโครงการเร่งรัดจัดเก็บภาษีรายใหญ่ 20 รายแรกของแต่ละสำนักงานเขต นอกจากนี้คณะผู้บริหารยังได้มีการประชุมแนวดิ่งเพื่อกำหนดนโยบายเร่งรัดการจัดเก็บภาษีด้วย ทั้งนี้คาดว่าในปีนี้จะสามารถจัดเก็บภาษีได้สูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 10-15 %
ผู้อำนวยการกองโรงงานช่างกล กล่าวว่า กองโรงงานช่างกลมีหน่วยงานให้บริการดังนี้ คือ 1.หน่วยซ่อมบริการเร่งด่วน ให้บริการซ่อมรถนอกสถานที่ พร้อมรถยกลากจูง ในกรณีที่รถเสียขณะปฏิบัติงาน 2. หน่วยบริการตรวจวัด-ปรับแต่งเครื่องยนต์ ต้านมลพิษจากไอเสียรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เริ่มให้บริการเมื่อประมาณปี 2541 โดยให้บริการตรวจวัดไอเสียรถราชการ, รถประชาชนทั่วไป ,บริการตรวจวัดมลพิษจากไอเสียนอกสถานที่ ตามที่ผู้ประกอบการรถขนส่งร้องขอ ปัจจุบันเปิดให้บริการ 3 แห่ง คือ ที่กองโรงงานช่างกล ดินแดง ประเวศและวัดไผ่เขียว หลักสี่บางเขน ในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “คลีนิคมอเตอร์ไซค์” ให้บริการตรวจสอบปรับแต่งมอเตอร์ไซค์ให้แก่ประชาชนฟรี 3. หน่วยช่วยเหลือและบรรเทา สาธารณภัย ให้บริการช่วยเหลือประชาชนกรณีรถเสียบนท้องถนน เมื่อมีน้ำท่วมขังบนผิวการจราจร รวมทั้งจัดหน่วยช่วยเหลือผู้ ประสบภัยต่างๆ เช่น เพลิงไหม้ ตึกถล่ม ฯลฯ โดยสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดหรือขอรับความช่วยเหลือได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข 2481827,2455303
สำหรับการดำเนินงานซ่อมบำรุงของกองโรงงานช่างกล แบ่งหน่วยงานออกเป็น 2 หน่วยคือ 1.ศูนย์ซ่อมบำรุงนอกสถานที่ จะมีกระจายอยู่ทั่วกทม. จำนวน 16 แห่ง เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งจัดซ่อมบำรุงในลักษณะของคลีนิครถ โดยจะซ่อมบำรุงตามวาระและการซ่อมเมื่อเกิดชำรุดขณะใช้งาน 2.กองโรงงานช่างกล ดินแดง เป็นโรงงานซ่อมใหญ่สามารถซ่อมได้ทุกระบบ มีเครื่องมือเครื่องจักรและอะไหล่ที่พร้อมให้บริการจัดซ่อม ส่วนใหญ่งานที่เข้าซ่อมจะมีความเสียหายไม่มาก แต่ในกรณีที่กองโรงงานช่างกลไม่สามารถซ่อมได้ จะดำเนินการจัดจ้างบริษัทเอกชนไปทำการจัดซ่อม โดยใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 45 วัน
ผู้อำนวยการกองโรงงานช่างกล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการปรับปรุงสภาพรถเก็บขนมูลฝอย จำนวน 250 คันนั้น ทางกองโรงงานช่างกลได้ดำเนินการซ่อมแยกเป็น 2 ประเภท คือ 1.รถที่ชำรุดมากต้องซ่อม ปรับปรุงสภาพ จำนวน 110 คัน โดยทำการเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่มาเป็นระบบ EURO I พร้อมทั้งปรับปรุงให้สามารถบรรทุกขยะได้ในปริมาณที่มากขึ้นด้วย รวมทั้งเพิ่มอุปกรณ์พิเศษที่สามารถเก็บน้ำเสียซึ่งรั่วจากตัวถังและรอยต่อรอบตัวถัง โดยมีถังเก็บน้ำเสียเพิ่มขึ้นประมาณ 200 ลิตร และมีรางรองรับน้ำเสียด้านท้าย 2 .รถที่มีสภาพตัวถังพอใช้ได้ ก็จะมีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เพื่อให้มีสภาพเช่นเดียวกับรถใหม่และนำมากลับมาใช้ใหม่ได้ ทั้งนี้เป็นการยืดอายุการใช้งานของรถออกไปได้อีกไม่น้อยกว่า 5 ปี--จบ--
-นห-
- ม.ค. ๒๕๖๘ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีปี 2544 โปรดยื่นแบบและชำระค่าภาษีตามกำหนด
- ม.ค. ๒๕๖๘ กทม.จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่องการพัฒนางานบริหารการคลัง
- ม.ค. ๒๕๖๘ สภากทม. แนะปรับแผนโครงการก่อสร้างด้านโยธา
- ม.ค. ๒๕๖๘ กทม.จะยกระดับอู่ซ่อมบำรุงให้ทัดเทียมอู่เอกชน
- ม.ค. ๒๕๖๘ รองผู้ว่าฯ มุดตาฝ้า ตรวจเยี่ยมกองโรงงานช่างกล กทม.