กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--เอไอเอส
เอไอเอสประกาศเปิดให้บริการโทรศัพท์ท่องอินเทอร์เน็ตส่งข้อมูลเร็วสูงในระดับจีพีอาร์อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เผยไม่คาดหวังรายได้มากนัก เพราะต้องศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้นับปี แต่น่าจะมีผู้ใช้ถึง 1 แสนคน ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ใช้อุปกรณ์มือถือพีดีเอ และโน้ตบุ๊ค ส่วนผู้พัฒนาคอนเทนท์ มีสิทธิ์ร่วมทำธุรกิจได้หลายรูปแบบ
นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหารบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า บริษัทจะเปิดให้บริการโครงข่ายจีพีอาร์เอส(General Packet Radio Service: GPRS) ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะเป็นระบบที่ทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสามารถเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ส่งอีเมล์ ค้นหาสถานที่บริการต่างๆ ผ่านทางเครื่องโทรศัพท์มือถือ รวมถึงชมภาพข่าววิดีโอในรูปแบบวิดีโอสตรีมมิ่ง ด้วยอุปกรณ์พีดีเอ อาทิ พ็อกเก็จพีซี ,เครื่องปาล์ม และโน๊ตบุ๊ค โดยไม่ต้องต่อสาย อย่างไรก็ตาม คงต้องใช้เวลาสำรวจพฤติกรรมและความนิยมของผู้ใช้งานอีกนับปี กว่าจะทราบว่า ผู้ใช้กลุ่มนี้เป็นใครและชื่นชอบบริการแบบใด แต่ในเบื้องต้นคาดว่า จะมีผู้ที่ใช้อุปกรณ์พีดีเออยู่แล้ว และผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือส่งข้อมูลหันมาใช้บริการผ่านโครงข่ายจีพีอาร์เอส รวมกันประมาณ 1 แสนคน
สำหรับเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานในโครงข่ายจีพีอาร์เอสได้ ขณะนี้มีขายในประเทศไทยเพียงไม่กี่รุ่น อาทิ ซีเมนส์ S45 ,อีริคสัน T39M และโมโตโรล่า V66 เท่านั้น ส่วนพื้นที่ที่ให้บริการในช่วงแรกจะเน้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในรัศมีการเดินทาง 2 ชั่วโมง และหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ หาดใหญ่ ,ภูเก็ต ,เชียงใหม่ และนครราชสีมา ซึ่งจะสามารถใช้บริการได้ในรัศมีการเดินทาง 1 ชั่วโมง
ส่วนค่าบริการสำหรับโทรศัพท์มือถือจีพีอาร์เอส จะคิดตามขนาดของข้อมูล 3 รูปแบบ ได้แก่ การเหมาจ่าย 250 บาท สำหรับการส่งข้อมูล 5 เมกกะไบต์ หรือ เหมาจ่าย 350 บาท สำหรับการส่งข้อมูล 10 เมกกะไบต์ และ เหมาจ่าย 1,500 บาท สำหรับการส่งข้อมูล 50 เมกกะไบต์ และในกรณีที่มีการส่งข้อมูลเกินกว่ากำหนดจะคิดค่าบริการเพิ่ม 5 สตางค์ต่อข้อมูลขนาด 1 กิโลไบต์
ด้านนายสุทธิชัย ชื่นชูศิลป์ ผู้จัดการสำนักบริหารธุรกิจอินเทอร์เน็ต ของเอไอเอส กล่าวว่า ผู้ที่ให้ข้อมูล หรือ ร้านค้า และบริการที่ต้องการนำข้อมูลขึ้นบนโครงข่ายจีพีอาร์เอส สามารถร่วมธุรกิจกับเอไอเอสได้ใน 3 รูปแบบ คือ
1. นำข้อมูลมาให้บริการเพื่อรับส่วนแบ่งรายได้ร่วมกัน
2. ผู้ที่มีแอพพลิชั่น สามารถนำมาต่อเชื่อมกับเกตเวย์ของเอไอเอส และ
3. ลงทุนเกตเวย์ จีพีอาร์เอสเพื่อให้บริการได้เอง--จบ--
-สส-
- พ.ย. ๐๔๔๖ เดอะมอลล์ กรุ๊ป รวมพลัง 7 พันธมิตรธุรกิจ เชิญชวนเป็นหนึ่งใน 1 ล้านคนไทย ระดมเงินบริจาคสนับสนุน โครงการ "วัคซีนเพื่อคนไทย" ต้านไวรัสโควิด-19
- พ.ย. ๒๕๖๗ เอไอเอส ไฟเบอร์ เดินหน้าผนึก วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เปิดห้องเรียนติวเข้มช่างติดตั้งไฟเบอร์ ยกระดับความรู้ ความสามารถ สู่มาตรฐานสากล
- พ.ย. ๒๕๖๗ เอไอเอส เอาใจลูกค้าคอบอล เปิดประสบการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ กับการชมถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษครบทุกแมทช์บนมือถือได้ทุกที่ทุกเวลา