กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--กทม.
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. เวลา 14.30 น. ที่ผ่านมา ณ สำนักงานคณะกรรมการอำนวยการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ปี 2008 ชั้น 7 เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เป็นวิทยากรพิเศษร่วมกับ นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกทม. นายสามารถ มะลูลีม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตวัฒนา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเตรียมการจัดโอลิมปิค 2008 ของกทม. และนายถิรชัย วุฒิธรรม ประธานคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นฯ ในงานเสวนาสื่อ “ร้อยดวงใจร่วมกัน สานฝันให้เป็นจริง” ครั้งที่ 7 ตอน “กทม.โชว์ศักยภาพรับมือโอลิมปิค 2008” ซึ่งเป็นงานเสวนาสื่อที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน
รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ปี 2008 นั้น เป็นเรื่องของประเทศไทยทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพมหานคร อีกทั้งคณะรัฐมนตรีก็มีมติให้การสนับสนุนเรื่องนี้ และตนคิดว่าผู้บริหารชุดใหม่ของกทม.ก็พร้อมให้การสนับสนุนเช่นกัน เพราะการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกได้รู้จักว่า แม้เราจะเป็นประเทศเล็ก แต่ก็มีศักยภาพที่จะจัดงานระดับโลกหลายรายการอาทิ กีฬาเอเชียนเกมส์ กีฬาซีเกมส์ การจัดการประชุม World Bank การประชุม UNCTAD เป็นต้น นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังมีจุดเด่นหลายด้านที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ไม่เพียงความพร้อมในด้านสถานที่ การเตรียมการและงบประมาณเท่านั้น กทม.ยังมีความโดดเด่นในด้านสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายมากกว่าเมืองหลวงของประเทศอื่น มีวัฒนธรรมอันเก่าแก่และงดงามที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ พร้อมกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และสิ่งสาธารณูปโภค ตลอดจนคนไทยก็มีอัธยาศัยไมตรีดี ต้อนรับแขกผู้มาเยือน สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเด่นที่น่าจะทำให้กรุงเทพมหานครได้รับการพิจารณาให้ผ่านเข้าสู่รอบที่ 2 ซึ่งจะมีการตัดสินในวันที่ 29 ส.ค.43 นี้
นายสามารถ กล่าวถึงงบประมาณที่ใช้ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 2008 ว่า สภากรุงเทพมหานครได้มีมติอนุมัติงบประมาณเพื่อใช้ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฯรอบแรก 41 ล้านบาท และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลอีก 41 ล้านบาท รวมเป็น 82 ล้านบาทในเบื้องต้น ซึ่งเงินส่วนหนึ่งที่นำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์นั้น ถือว่าเป็นการลงทุนในด้านการท่องเที่ยว เพราะหากชื่อเสียงของไทยเป็นที่รู้จักของต่างชาติ ก็จะนำมาซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 4-5 แสนล้านบาทต่อปี จึงถือเป็นการลงทุนประชาสัมพันธ์ที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง
นางวรรณวิไล กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวทุกด้าน และเป็นประตูด่านแรกก่อนที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางไปท่องเที่ยวยังจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศไทย ปัจจุบันนักท่องเที่ยวใช้เวลาพักค้างในกทม. โดยเฉลี่ย 2-3 วัน กรุงเทพมหานครได้มีแผนที่จะขยายเวลาพักค้างของนักท่องเที่ยว โดยประสานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางวัฒนธรรม และสถานที่ท่องเที่ยว จับจ่ายสินค้าอันทันสมัย ตลอดจนดูแลด้านสุขาภิบาลอาหาร แก้ไขปัญหาจราจร ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ของเมือง เป็นต้น ซึ่งเมื่อกทม.มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ ดังกล่าว ประกอบกับมีการทำความเข้าใจกับคนในประชาคมต่าง ๆ ว่าเราต้องพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพ ต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวให้มากที่สุด ระยะเวลาการพักค้าง และเงินที่ใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นเอง หากไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค กทม.ก็จะมีเวลาอีก 8 ปี ในการพัฒนาเมืองให้มีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะรองรับ และสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก
นายถิรชัย กล่าวด้วยว่า ตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้ใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์ไปแล้วถึง 51 ล้านบาทนั้น ตนขอชี้แจงว่า งบที่ใช้ไป 51 ล้านบาทเป็นงบที่เฉลี่ยให้แก่ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 11 ฝ่าย เช่น ฝ่ายเลขาธิการ ฝ่ายประสานงานด้านต่างประเทศ ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป ฝ่ายโครงสร้างด้านการกีฬา ฝ่ายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เป็นต้น ส่วนงบประมาณที่ใช้ด้านการประชาสัมพันธ์เป็นเพียง 35% ของงบทั้งหมดที่ใช้ไปเท่านั้น--จบ--
-นศ-