กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--กระทรวงศึกษาธิการ
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้ลงนามในการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ.2515 แล้ว โดยต่อไปการลงโทษนักเรียนจะใช้หลักความรักความเอื้ออาทร ให้คำแนะนำว่าอะไรถูกอะไรผิดมากกว่าการลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี ซึ่งการแก้ไขระเบียบดังกล่าวได้กำหนดว่า ต่อไปครูจะลงโทษนักเรียนที่กระทำผิดนั้นจะมี 5. ประเภทด้วยกันคือ
1.ว่ากล่าวตักเตือน
2.ทำกิจกรรม
3.ทำทัณฑ์บน
4.พักการเรียน
5.ให้ออก
เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โทษให้ออกนั้นจะไม่ใช้กับสถานศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน 12 ปี คือ ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ให้พิจารณาโทษว่ากล่าวตักเตือน ทำกิจกรรมและทำทัณฑ์บน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ ให้พิจารณาโทษว่ากล่าวตักเตือน ทำกิจกรรม ทำทัณฑ์บน และพักการเรียน ระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ให้ใช้กับสำหรับโทษทุกสถาน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับสถานศึกษาที่จัดการศึกษาในรูปแบบนอกระบบโรงเรียนหรือเฉพาะทาง หรือมีกฎหมายจัดการศึกษาเป็นของตนเอง การจะลงโทษอย่างใด ด้วยวิธีใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษานั้นกำหนด ในโทษว่ากล่าวตักเตือน ครู อาจารย์ ตัดสินได้เอง เพื่อใช้สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่ทำความผิดไม่ร้ายแรง แต่โทษตั้งแต่ทำกิจกรรมจนถึงให้ออก จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของโรงเรียนก่อนว่ามีความผิดจริง โดยให้ผู้บริหารโรงเรียนตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาโทษเด็ก เพื่อป้องกันอารมณ์ของครู คิดว่าระเบียบการลงโทษใหม่นี้จะทำให้การละเมิดสิทธิเด็กลดลง จะเริ่มใช้ในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2543 นี้ทันที หลังจากนี้โรงเรียนจะได้รับระเบียบที่แก้ไขใหม่นี้ไปปิดประกาศที่โรงเรียน ดังนั้น จะไม่มีข้ออ้างใดจากครู ว่าไม่รู้เรื่อง--จบ--
-สส-