กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--กทม.
สภากทม. เห็นชอบให้กทม.จัดตั้งสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดและเปิดโรงเรียนสำหรับเด็ก ผู้บกพร่องทางการได้ยินและสมาธิสั้น เมื่อวานนี้ (2 พ.ค.44) เวลา 10.00 น. ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 5) พ.ศ.2544 ได้มีการพิจารณาญัตติของนายอภิชาติ หาลำเจียก ส.ก.เขตจตุจักร เรื่องขอให้กรุงเทพมหานครประสานกับรัฐบาล เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดของกรุงเทพมหานคร
นายอภิชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์รวมความเจริญของประเทศ จึงเป็นที่หลั่งไหลของประชาชนจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาสังคมโดยเฉพาะปัญหา “ยาเสพติด” ที่แพร่ระบาดในทุกชนชั้นและทุกวัย รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายเร่งด่วนในการบริหารประเทศ เรื่อง “การเร่งจัดตั้งสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด ควบคู่ไปกับการปราบปรามและป้องกัน” สำหรับกรุงเทพมหานคร ได้ก่อตั้งสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด (บ้านพิชิตใจ) ให้การบำบัดผู้ติดยาเสพติด ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจึงขอให้กรุงเทพมหานครประสานกับรัฐบาลเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งสถานบำบัด ผู้ติดยาเสพติดหรือโรงพยาบาลเฉพาะทางของกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับผู้ป่วยในอนาคต
นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา ส.ก.เขตบางรัก กล่าวสนับสนุนญัตตินี้ว่า ในการบำบัดผู้ติดยาเสพติดของกรุงเทพมหานครนั้น ควรดำเนินการในเชิงรุกควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาในเชิงรับ โดยทุกสำนักงานเขตจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และสนับสนุนงบประมาณเพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งน่าจะเชิญเอกชนเข้ามาร่วมแก้ปัญหายาเสพติดกับภาครัฐด้วย
ด้านนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้กทม.กำลังดำเนินการจัดหาสถานที่ที่มีความเหมาะสม อยู่บริเวณสี่มุมเมือง เนื้อที่ประมาณ 200-300 ไร่ เพื่อสร้างสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด และอยู่ระหว่างการประสานกับรัฐบาล ขอสนับสนุนด้านงบประมาณในการจัดตั้งสถานบำบัดฯ ซึ่งเรื่องนี้กทม.ขอรับไปดำเนินการ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาญัตติของนายสามารถ มะลูลีม ส.ก.เขตวัฒนา เรื่องขอให้กรุงเทพมหานครเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กผู้บกพร่องทางการได้ยินและเด็กที่มีสมาธิสั้น โดยนายสามารถ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีปัญหาเด็กบกพร่องทางการได้ยินและเด็กที่มีสมาธิสั้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมีการจัดการศึกษาที่ถูกต้องให้ตั้งแต่เยาว์วัย จะทำให้สามารถเติบโตและมีพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญาและวุฒิภาวะเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป แต่ปรากฎว่าโรงเรียนที่จัดการศึกษา เฉพาะให้แก่เด็กดังกล่าวมีจำนวนน้อย และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง เป็นเหตุให้ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยไม่สามารถส่งบุตรหลานที่มีปัญหาข้างต้นเข้าศึกษาได้ จึงเห็นควรให้กรุงเทพมหานครจัดตั้งโรงเรียนสอนเด็กที่บกพร่องทางการได้ยินและเด็กที่มีสมาธิสั้นเป็นการเฉพาะ เช่นเดียวกับโรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานคร เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ปกครองและเด็กที่ด้อยโอกาสดังกล่าวต่อไป
ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้จัดการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กพิการ จำนวน 8 โรงเรียนมาตั้งแต่ พ.ศ.2534 และได้จัดเพิ่มขึ้นอีกจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวน 58 โรงเรียน เช่น โรงเรียนวิทยาวนาลัย, โรงเรียนวัดนิมมานนรดี, โรงเรียนวัดสุวรรณาราม, โรงเรียนวัดดอน, โรงเรียนวัดลาดพร้าว , โรงเรียนศูนย์ร่วมน้ำใจ, โรงเรียนสามเสนนอก เป็นต้น โดยมีเด็กพิการที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา, ทางการได้ยิน, การมองเห็น, ทางร่างกายสุขภาพ, การพูดและภาษา , ทางการเรียนรู้, ทางพฤติกรรม, สมาธิสั้น รวม 1,700 กว่าราย หากจะจัดสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กพิการซ้ำซ้อน 1 โรงเรียน ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 40 ล้านบาท และขณะนี้ โรงเรียนแจ่มจันทร์ เขตวัฒนา สามารถรองรับเด็กพิการได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งสำนักการศึกษาจะต้องไปศึกษาในเรื่องของอุปกรณ์ต่าง ๆ ก่อน อย่างไรก็ดีฝ่ายบริหารเห็นด้วยกับญัตตินี้ พร้อมรับไปดำเนินการ
อนึ่งที่ประชุมสภากทม.มีมติเห็นชอบทั้ง 2 ญัตติดังกล่าว และจะนำเสนอฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป--จบ--
-นห-