กรมอนามัย เปิดหลักสูตร 'ประชาชนรอบรู้ ห่างไกล NCDs ขยับกายดี กินดี ไม่ป่วย' ผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์มีแนวโน้มดีขึ้น

กรมอนามัยส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเพื่อป้องกันโรค NCDs จากการสำรวจพบว่ามีคนไทยร้อยละ 39.14 ที่พึงประสงค์ ในการป้องกันตัวเองจากโรค NCDs พร้อมเปิดหลักสูตรใหม่ประชาชนรอบรู้ห่างไกล NCDs ขยับกายดี กินดี ไม่ป่วย ปรับพฤติกรรม สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เร่งลดโรค NCDs

Tuesday 13 May 2025 15:09
กรมอนามัย เปิดหลักสูตร 'ประชาชนรอบรู้ ห่างไกล NCDs ขยับกายดี กินดี ไม่ป่วย' ผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์มีแนวโน้มดีขึ้น

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs ขยับกายดี กินดี ไม่ป่วย สวยหล่อ อายุยืน กระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นถึงผลกระทบของปัญหาโรค NCDs พบ คนไทยเสียชีวิตจากโรค NCDs มากกว่า 4 แสนคนต่อปี ป่วยเพิ่มใหม่ปีละ 2 ล้านคน สูญเสียงบประมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปี 2567 สูญเสียงบประมาณถึง 7 หมื่นล้านบาท กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสาธารณสุขทุกจังหวัดทั่วประเทศยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพในระดับองค์กรและชุมชน โดยกำกับติดตามผ่านศูนย์รวมข้อมูลและกิจกรรมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพประเทศไทย (ระบบสาสุขอุ่นใจ) ซึ่งมีประชาชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพและปรับเปลี่ยนตนเองให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี จำนวน 56,452 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2568) พบว่า ประชาชนเพียงร้อยละ 33 ที่ไม่กินของหวานและขนมที่มีแป้งและน้ำตาลมาก ร้อยละ 35 ไม่กินอาหารไขมันสูง ร้อยละ 37 ไม่เติมเครื่องปรุงรสเค็ม มีการออกกำลังกายวันละ 30 นาที หรือเดินวันละ 10,000 ก้าว เพียงร้อยละ 41 และร้อยละ 50 กินผักวันละ 4 ทัพพี และผลไม้ วันละ 2 ส่วน หรือ 2 กำมือ สำหรับพฤติกรรมที่คนไทยส่วนใหญ่ปฏิบัติเป็นประจำ คือ ไม่สูบบุหรี่ ร้อยละ 86 แปรงฟัน วันละ 2 ครั้ง นานครั้งละ 2 นาที ร้อยละ 84 มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อน ครอบครัว อารมณ์ดี ไม่เครียด ร้อยละ 75 ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 72 และนอนวันละ 7 - 9 ชั่วโมง ร้อยละ 68

แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากผลพฤติกรรมสุขภาพยังถือเป็นความท้าทายของกรมอนามัยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนที่เคยชินให้ถูกต้องอย่างยั่งยืนมากขึ้นที่ผ่านมา เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กร ชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมีเป้าหมายให้คนไทยมีอัตราความรอบรู้ด้านสุขภาพเพียงพอร้อยละ 82 และมีองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพที่จัดกิจกรรมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพป้องกันหรือชุมชนโลว์คาร์บ ไม่ใช่โลว์แคล จำนวน 6,000 ชุมชน มีประชาชนในชุมชนเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 112,175 คน ในปี 2568 สำหรับความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับบุคคล ปี 2567 กรมอนามัย จัดทำหลักสูตรครอบครัวรอบรู้สุขภาพห่างไกล NCDs (Health literate family) เพื่อเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพ ส่งต่อความรอบรู้ให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแล ให้สามารถจัดการดูแลสุขภาพตนเองได้โดยปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรม จำนวน 159,940 คน และมีความคาดหวังว่าหลังจบกิจกรรมประชาชนจะมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีมากขึ้น

นายแพทย์อัครวัฒน์ เพียวพงภควัต ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรล่าสุดที่เปิดตัว จะเน้นในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่ป่วยเป็นโรค NCDs แล้ว ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเลิกหรือลดการกินยา ชื่อหลักสูตร ประชาชนรอบรู้ห่างไกล NCDs ขยับกายดี กินดี ไม่ป่วย 7 เรื่อง ได้แก่ 1) รอบรู้ตัวเลขด้านสุขภาพ ประกอบด้วย ความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด รอบเอว ดัชนีมวลกาย ระดับไขมันในเลือด 2) เทคนิคลดความดัน ก่อนต้องกินยา การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย กินอาหารที่เป็นผักสด ผลไม้สด และการนอนหลับที่ดี 3) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เข้าสู่เบาหวานระยะสงบ (DM Remission) คำนวณคาร์บตามน้ำหนักตัว คุมคาร์โบไฮเดรต 4) 8 วิธี ลดน้ำหนักลดอ้วน ลดเสี่ยง NCDs 5) ออกกำลังกาย คุมเบาหวาน ความดัน 6) ฉลาด อ่านฉลาก (GDA) ที่แสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม เพื่อช่วยเลือกซื้ออาหาร ลดความเสี่ยงโรคอ้วน และโรค NCDs และ 7) เบาหวาน ความดัน ต้องดูแลสุขภาพช่องปาก เพราะเสี่ยงต่อการเป็นโรคปริทันต์ โดยแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟัน ลดของหวาน และพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ลงทะเบียนได้ที่ ศูนย์รวมข้อมูลและกิจกรรมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพประเทศไทย (ระบบสาสุขอุ่นใจ) https://sasukoonchai.anamai.moph.go.th

กรมอนามัย เปิดหลักสูตร 'ประชาชนรอบรู้ ห่างไกล NCDs ขยับกายดี กินดี ไม่ป่วย' ผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์มีแนวโน้มดีขึ้น