สำหรับนวัตกรรมห้องเรียนดิจิทัลในโรงเรียนสังกัด กทม. และการขยายผลโครงการไปในโรงเรียนอื่น ๆ เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ทางการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม ที่ผ่านมา กทม.ได้รับบริจาคคอมพิวเตอร์ 1,124 เครื่อง และส่งมอบให้แก่โรงเรียนจำนวน 10 โรงเรียน เพื่อนำไปจัดเป็น Digital Classroom แล้ว (ตั้งแต่ปี 2566) โดยในปีการศึกษา 2567 ที่ผ่านมา ผลการเรียนของนักเรียนในห้องดิจิทัล เมื่อเปรียบเทียบกับห้องปกติมีค่าเฉลี่ยที่มากกว่าเพียงเล็กน้อย แต่ประโยชน์ที่ได้รับคือ การยกระดับห้องเรียนให้ทันสมัยและการเตรียมความพร้อมของครูและนักเรียนให้เข้าสู่การเรียนรูปแบบใหม่ จุดเริ่มของการเปลี่ยนระบบการศึกษา เปลี่ยนโลก เปลี่ยนอนาคต โดยในปี 2568 สนศ. มีงบประมาณจัดซื้อ 1,630 เครื่อง และเช่า 21,533 เครื่อง เพิ่มให้ครบทั้ง 437 โรงเรียน
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาทักษะดิจิทัลให้ข้าราชการครูโรงเรียนในสังกัดแล้ว 620 คน จาก 111 โรงเรียน ให้สามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้และผลิตสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย สอดคล้องกับผู้เรียนในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และทักษะดิจิทัลที่จำเป็นในปัจจุบัน สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีไปบูรณาการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนดิจิทัลระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จะขยายผลการพัฒนาครูไปสู่ 437 โรงเรียน โดยมีครูที่เข้าร่วมโครงการ 1,400 คน จะเน้นการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้ครูสามารถบูรณาการเทคโนโลยีจัดการเรียนรู้ได้อย่างเชี่ยวชาญและเหมาะสมกับผู้เรียน ทั้งนี้ Digital Classroom เป็นแนวคิดที่จะพัฒนาห้องเรียนในสังกัด กทม. จากรูปแบบเดิมที่ผู้เรียนเน้นการท่องจำ ทำตามในสิ่งที่ครูสอนเพียงอย่างเดียว เปลี่ยนไปสู่การเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning ที่ผู้เรียนจะได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม เพื่อลดภาระหน้าที่ครู จึงได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนการเรียนรู้ในห้องเรียนดิจิทัล