นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ. ได้ดำเนินการ 3 ส่วน ได้แก่ การสร้างระบบบริการด้านสุขภาพ โดยออกหน่วยคาราวานตรวจสุขภาพทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ จัดตั้งศูนย์ BKK Wellness Clinic ทั้ง 11 แห่ง ให้บริการตรวจสุขภาพฟรี ปีละ 1 ครั้ง และฉีดวัคซีนตามฤดูกาล ส่งเสริมความร่วมมือสหสาขาวิชาชีพ โดยพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และร่วมกับสหสาขาวิชาชีพในการดำเนินงาน และให้ความรู้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนร่วมกิจกรรม "วิ่งล้อมเมือง : Health City สุขภาพดี เริ่มต้นได้" และ BKK Health Challenge 2025 การแข่งขันนับก้าวเดิน/วิ่ง ไม่ต่ำกว่า 6,000 ก้าว/วัน ระยะเวลามากกว่า 25 วันขึ้นไป ในส่วนราชการในสังกัดและภาคประชาชนในงาน BKK Expo 2025 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ สนพ. ยังได้ดำเนินการตามนโยบายของ สธ. ในการร่วมส่งเสริมสุขภาพประชาชนขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs ในปี 2568 โดยมุ่งเน้น 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย ลดบริโภคเกลือและโซเดียม เนื่องจากโซเดียมจะดึงน้ำและของเหลวในระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจ ไต และหลอดเลือด ทำงานหนักมากขึ้น ส่งเสริมการออกกำลังกาย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรค NCDs ได้ร้อยละ 20 - 30 โดยข้อมูลของ WHO ปี 2567 พบว่า สามารถลดโอกาสเกิดโรคหัวใจร้อยละ 30 โรคเบาหวานร้อยละ 27 และมะเร็งเต้านมและลำไส้ใหญ่ร้อยละ 21 - 25 การเพิ่มโปรตีน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ โดยควรได้รับโปรตีน 1 - 2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เน้นโปรตีนจากธรรมชาติ เช่น ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเมล็ดแห้ง/ผลิตภัณฑ์ น้ำนม และควรเป็นโปรตีนจากเนื้อสัตว์เป็นหลัก เพราะมีคุณภาพดีและมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนมากกว่าโปรตีนจากพืช และเพิ่มไขมันดี เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง สมดุล โดยไขมันดีจะช่วยขจัดคอเลสเตอรอล หรือไขมันเลว (LDL) ที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ แหล่งไขมันดี เช่น ปลาทะเลน้ำลึก อะโวคาโด้ หอมหัวใหญ่ ไข่ไก่ ถั่วเหลือง ดาร์กช็อกโกแลต น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ เป็นต้น ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรค NCDs รายใหม่และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลด หรืองดใช้ยาในการรักษา เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว