โดยการนำ IoT มาใช้กระบวนการก่อสร้าง ได้แก่ การนำเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ IoT มาใช้ภายในโครงการก่อสร้าง ทำให้เราสามารถติดตาม ตรวจสอบ และ ควบคุมการทำงานในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร วัสดุ คนงาน หรือ สภาพแวดล้อมภายในโครงการก่อสร้างได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งส่งผลให้การบริหารงานก่อสร้างมีความแม่นยำ ต้นทุนลดลง และอุบัติเหตุน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ผลงานวิจัยที่รายงานโดย Digi International เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ระบุว่า โครงการที่นำ IoT มาใช้สามารถลดต้นทุนได้มากถึง 29% เมื่อเทียบกับการก่อสร้างปกติ
โดยการลงทุนเพื่อพัฒนา IoT ในพื้นที่ก่อสร้าง แต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันจากข้อมูลของ MatamindZ บริษัทสถาปนิกที่ออกแบบโดยใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล ได้ระบุในบทความประจำเดือนมีนาคม 2568 ผ่าน website https://www.metamindz.co.uk/company ว่า การลงทุนนำ IoT มาใช้มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในด้านของฮาร์ดแวร์ เริ่มต้นประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.02 ล้านบาท ในส่วนของ ซอฟท์แวร์ ในกลุ่มของการพัฒนา แพลตฟอร์ม แอพพลิเคชั่น มีค่าใช้จ่ายประมาณ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.7 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายเพียงครั้งเดียว และมีค่าใช้จ่ายเรื่องของการพัฒนาและปรับปรุงระบบเฉลี่ย 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือประมาณ 340,000 บาท และมีค่าเชื่อมต่อระบบ (Network) ประมาณ 4 - 12 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 136 - 408 บาทต่อการเชื่อมต่อกับ 1 อุปกรณ์ต่อปี
"เมื่อเทียบต้นทุนการก่อสร้างที่ลดลง 29% เมื่อนำเทคโนโลยี IoT มาใช้แล้ว ผมมองว่าคุ้มมาก นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในการขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ" นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว
4 นวัตกรรม IoT พลิกโฉม ก่อสร้างไทย
นายประพันธ์ศักดิ์ ขยายความการนำ IoT มาใช้ในกระบวนการก่อสร้าง ประกอบด้วย 4 นวัตกรรม ได้แก่
1. IoT กับ การติดตามสถานะเครื่องมือและอุปกรณ์
IoT ช่วยให้สามารถติดตามตำแหน่งของเครื่องมือและอุปกรณ์ภายในโครงการก่อสร้างได้แบบเรียลไทม์ ลดปัญหาการสูญหายและลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อซ้ำ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องจักรและยานพาหนะ พร้อมวางแผนการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Predictive Maintenance) เพื่อยืดอายุการใช้งานและลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุในอนาคตได้
2. IoT กับควบคุมจากระยะไกล
นอกเหนือจากช่วยเรื่องการติดตามแล้ว IoT ยังช่วยให้สามารถควบคุมการทำงานของเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ ได้จากระยะไกลแม้ไม่ได้อยู่หน้างานโดยตรงก็ตาม ทำให้สามารถลดจำนวนคนควบคุมงานภายในพื้นที่ก่อสร้าง
3. IoT กับ เสริมสร้างความปลอดภัยของคนงาน
- อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (Wearables) : เช่น หมวกนิรภัยอัจฉริยะและรองเท้าบู๊ตที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สามารถตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิร่างกาย หรือสัญญาณความเหนื่อยล้า และแจ้งเตือนให้คนงานหยุดพักเมื่อจำเป็น
- ระบบติดตามตำแหน่ง : ตรวจสอบตำแหน่งของคนงานแบบเรียลไทม์ เพื่อระบุจุดเสี่ยง จุดคอขวด และบริหารจัดการคนงานได้อย่างเหมาะสม
- เซ็นเซอร์ตรวจจับความเสี่ยง : เช่น Proximity Sensor ที่สามารถแจ้งเตือนเมื่อมีคนงานเข้าใกล้พื้นที่อันตราย หรือเซ็นเซอร์ที่ตรวจสอบควัน ความร้อน โครงสร้างที่ไม่มั่นคง เมื่อมีความเสี่ยง ระบบจะส่งสัญญาณเตือนหรือสั่งหยุดการทำงานโดยอัตโนมัติ
4. IoT กับการตรวจสอบคุณภาพงานก่อสร้าง
IoT ยังสามารถใช้ในงานตรวจสอบคุณภาพวัสดุ เช่น เซ็นเซอร์บ่มคอนกรีตที่ฝังไว้ในโครงสร้าง เพื่อวัดอุณหภูมิและความแข็งแรงของคอนกรีตแบบเรียลไทม์ โดยข้อมูลจะถูกส่งไปยังระบบคลาวด์ ทำให้สามารถติดตามความคืบหน้าได้อย่างแม่นยำและวางแผนงานต่อเนื่องได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยแจ้งเตือนความเสื่อมโทรมหรือรอยร้าวที่เกิดขึ้น เพื่อซ่อมแซมได้ก่อนเกิดปัญหาใหญ่
แม้ว่า IoT จะมีศักยภาพสูง แต่การประยุกต์ใช้ในโครงการก่อสร้างยังไม่แพร่หลายมากนัก เพราะอุปกรณ์ IoT เป็นต้นทุนที่จะเพิ่มเข้ามาในการก่อสร้าง ทั้งนี้เพื่อให้การเลือกใช้ IoT เกิดประโยชน์สูงสุด ควรมีแนวทางในการพิจารณาดังต่อไปนี้
- เริ่มจากโครงการนำร่องที่วัดผลได้ เลือกใช้อุปกรณ์ IoT กับกระบวนการที่มีปัญหาหรือเป้าหมายชัดเจน เพื่อแสดงผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
- เลือกเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับไซต์งานก่อสร้าง พิจารณาจากขนาด ลักษณะงาน และสภาพแวดล้อม เพื่อไม่ให้ลงทุนเกินความจำเป็น
- จัดการข้อมูลอย่างมีระบบ ต้องมีระบบจัดเก็บ วิเคราะห์ และนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจจริง ไม่ใช่เพียงเก็บไว้เฉยๆ โดยไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
- พัฒนาบุคลากร ฝึกอบรมให้พนักงานและผู้บริหารเข้าใจการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง เพื่อเสริมสร้างการยอมรับและการใช้จริงในระยะยาว
"การก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ได้เปลี่ยนแปลง (Disrupt) ในหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ผมมองว่าเป็นโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพการก่อสร้าง และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาว ท่ามกลางสถานการณ์ที่ปัจจัยด้านต้นทุนหลายอย่างปรับตัวขึ้นทั้ง ราคาที่ดิน ค่าแรงขั้นต่ำ ราคาวัสดุก่อสร้าง ฯลฯ
ดังนั้นการนำเทคโนโลยี IoT มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการก่อสร้าง นอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานแล้ว ยังเพิ่มความเร็วในการก่อสร้าง(Speed) ลดต้นทุนทางการเงินได้ทางอ้อม เทคโนโลยี IoT จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้งานก่อสร้างของไทยมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น หากถูกวางแผนและนำมาใช้อย่างเหมาะสม IoT จะเป็นรากฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน" นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว