"อมตะ" รวมพลังพันธมิตรรักษ์โลก เดินหน้าโครงการ "Re-No-Waste" ส่งมอบกระเป๋ารีไซเคิล 3,000 ใบให้โรงเรียนรอบนิคมฯอมตะ

อมตะ เดินหน้าสานต่อความตั้งใจในการขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน ในโครงการ "Re-No-Waste: Eco-friendly for Sustainable Future" สร้างต้นแบบของการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบ พร้อมส่งมอบ "กระเป๋านักเรียนจากขวดพลาสติก PET รีไซเคิล" จำนวนกว่า 3,000 ใบให้ครบภายในสิ้นปีนี้ให้แก่โรงเรียนในพื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และจังหวัดระยอง

Wednesday 2 July 2025 17:35
"อมตะ" รวมพลังพันธมิตรรักษ์โลก เดินหน้าโครงการ "Re-No-Waste" ส่งมอบกระเป๋ารีไซเคิล 3,000 ใบให้โรงเรียนรอบนิคมฯอมตะ

นายโอซามู ซูโด รักษาการประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกิจกรรมครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้โครงการ "Re-No-Waste: จากโรงงานสู่โรงเรียน เปลี่ยนขวดพลาสติกเป็นกระเป๋านักเรียน" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน), บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน), สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และพันธมิตรจากภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการลดปริมาณขยะพลาสติก และส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะและนำมารีไซเคิลภายในชุมชน เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างยั่งยืน

"อมตะตั้งใจที่จะสร้างคุณค่าร่วมกับชุมชน กระเป๋าแต่ละใบใช่แค่ของใช้สำหรับนักเรียนเท่านั้น แต่เป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลง และความหวังต่อโลกที่ดีขึ้น เพื่อการถ่ายทอดแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชน การมอบกระเป๋าใบหนึ่งจึงมีความหมายมากกว่าของขวัญ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน" นายโอซามู กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับในระยะแรกได้รวบรวมขวดพลาสติก PET ที่ใช้แล้วจากโรงงาน ชุมชน และสถานที่สาธารณะโดยรอบนิคมฯรวมกว่า 3,000 กิโลกรัม เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม และผลิตเป็นกระเป๋านักเรียนที่มีคุณภาพ แข็งแรง และสามารถใช้งานได้จริง โดยจะทยอยส่งมอบกระเป๋าให้กับนักเรียนในจังหวัดชลบุรีและระยองได้ครบภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งนอกจากจะลดปริมาณขยะได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวในพื้นที่ได้อีกด้วย

"ผมมองว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่ใช่เพียงเรื่องของเทคโนโลยี แต่คือความร่วมมือและการสร้างความยั่งยืน ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วม โดยโครงการ "Re-No-Waste" ไม่ได้จบเพียงแค่การผลิตและส่งมอบ แต่ยังมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ สื่อสารความรู้เรื่องการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี การจัดการของเสียและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อให้เยาวชนและคนในชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะในด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษาที่เท่าเทียม และการสร้างเมืองที่ยั่งยืน" นายโอซามู กล่าวทิ้งท้าย

อมตะและเครือข่ายพันธมิตรเชื่อมั่นว่าความเปลี่ยนแปลงระดับท้องถิ่นเล็ก ๆ เมื่อเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะกลายเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่อนาคตที่ปลอดขยะและเป็นการวางรากฐานให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน