นอกจากนี้ สนพ. ได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคผื่นกุหลาบเป็นขั้นตอนสำคัญ โดยเพิ่มความรู้และความตระหนักของประชาชนเกี่ยวกับโรค เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองและลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคผื่นกุหลาบบางรายอาจเป็นนานถึง 5 เดือนหรือมากกว่า โดยพบว่ามีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย การได้รับวัคซีน ผื่นแพ้ยุงและแมลง และยาบางชนิดก็สามารถทำให้เกิดผื่นแบบเดียวกันได้ ทั้งนี้ โรคผื่นกุหลาบเป็นโรคผิวหนังที่ไม่ค่อยรุนแรง ไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นโรคที่เกิดจากปฏิกิริยาของผิวหนังต่อภาวะบางอย่าง เช่น โรคติดเชื้อไวรัสบางชนิดในกลุ่ม Human herpes virus 6, 7 ซึ่งไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของโรคเริมและโรคอีสุกอีใส และผื่นกุหลาบไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสผิวหนังที่เป็นโรคได้ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ การใช้ยาบางประเภทก็อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นกุหลาบได้ เช่น Captopril ยาลดความดันโลหิตกลุ่มยาต้านเอนไซม์เอซีอี ยาฆ่าเชื้อ Metronidazole ยา Isotretinoin ที่ใช้รักษาสิว ยา Omeprazole สำหรับรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ยา Terbinafine สำหรับรักษาเชื้อรา เป็นต้น
สำหรับการดูแลตัวเองสำหรับโรคผื่นกุหลาบ ได้แก่ อาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน หรือน้ำอุ่นจัด เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสูตรอ่อนโยน และไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมหลีกเลี่ยงการเกาผื่น ถูผื่นแรง ๆ และตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากการเกา สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และไม่ก่อให้เกิดการเสียดสีระคายเคืองต่อผิวหนัง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อน เพราะสภาพอากาศที่อบอ้าวและการมีเหงื่อออกมากอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น และหากผู้ป่วยบางรายสังเกตตัวเองว่า มีอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผื่นได้บ่อยก็อาจหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น ยาบางชนิด อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เหงื่อ สิ่งแวดล้อมบางอย่าง เป็นต้น คำแนะนำในการปฏิบัติตนและพยากรณ์โรค จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจภาวะที่เป็นมากขึ้น ไม่เครียดไม่กังวลจนเกินไป การรักษาตามอาการ เช่น ยารับประทานลดอาการคัน หรือยาทากลุ่ม Steroid จะช่วยบรรเทาอาการคันได้ หากสงสัยในอาการเจ็บป่วยสามารถพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine แอปพลิเคชัน "หมอ กทม." เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว สามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทรสายด่วนสุขภาพ สนพ. 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง