BDMS Wellness Clinic ดันแนวคิด Wellness Economy 5.0 ชูศักยภาพท้องถิ่นภาคอีสาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการดูแลสุขภาพไทยสู่สากล

บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) ศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันในเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS นำโดย นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และบีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจสุขภาพในประเทศ เปิดมุมมองใหม่สู่ "ภูมิภาคอีสาน" ในฐานะพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพในอนาคต ผ่านการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "Wellness Economy 5.0: Unlocking the Gems of Isan" ณ จังหวัดขอนแก่น สะท้อนศักยภาพเชิงพื้นที่และปลุกพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนา Wellness Tourism ไทยสู่สากล

Friday 11 July 2025 16:06
BDMS Wellness Clinic ดันแนวคิด Wellness Economy 5.0 ชูศักยภาพท้องถิ่นภาคอีสาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการดูแลสุขภาพไทยสู่สากล

ต่อจิ๊กซอว์สุขภาพ สู่ภาพใหญ่ของชาติ: Wellness มีความสำคัญต่อภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐอย่างไร?
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสุขภาพในหลากหลายมิติ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตโรคอ้วน และ โรคเบาหวาน ที่เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มประชากรวัยทำงาน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ภาวะ ความเครียดเรื้อรัง ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของอัตราประชากรที่กำลังเผชิญหน้ากับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งกลายเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในประเทศ

ประเด็นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า "สุขภาพ" ไม่ใช่เพียงเรื่องส่วนบุคคลอีกต่อไป แต่เป็น "ประเด็นเชิงโครงสร้าง" ที่จำเป็นต้องได้รับการบูรณาการอย่างเป็นระบบ โดยแนวคิด Wellness หรือการส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกันจึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งในระดับประชาชน ที่ต้องได้รับการส่งเสริมให้เข้าถึงองค์ความรู้และบริการสุขภาพที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นทาง ภาคธุรกิจที่สามารถใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าและบริการด้านสุขภาพที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ และ ภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายเชิงรุกเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ลดภาระโรค และสร้างความมั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจและสาธารณสุขในระยะยาว

ไขรหัสศักยภาพ 'อีสาน' ดินแดนแห่งสมดุลระหว่างสุขภาพ ธรรมชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น

เมื่อกล่าวถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพและความก้าวหน้าในระดับแนวหน้าของโลกอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากรายงานของ Global Wellness Institute ในช่วงปี พ.ศ. 2565-2566 ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของมูลค่าตลาดเศรษฐกิจเวลเนสสูงถึงร้อยละ 28.4 ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลก สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศ ไม่ว่าจะด้านธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวอันงดงาม รสชาติอาหารไทยอันเป็นเอกลักษณ์ เสน่ห์ของการให้บริการแบบไทย ๆ การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย ตลอดจนบุคลากรและเทคโนโลยีทางการแพทย์ในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ที่เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยรองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพดี

ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ "ภาคอีสาน" พื้นที่แห่งนี้กำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในฐานะภูมิภาคที่มี ศักยภาพสูงในการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) ทั้งในมิติของภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภูมิปัญญาพื้นถิ่นด้านสุขภาพ ที่สะท้อนผ่านวิถีชีวิต อาหาร และการใช้พืชสมุนไพรในการดูแลตนเองมาอย่างยาวนาน หนึ่งในจุดแข็งที่โดดเด่นของภูมิภาคอีสาน คืออาหารพื้นถิ่นที่มีคุณประโยชน์ทางโภชนาการ และสอดคล้องกับแนวคิดการบริโภคเพื่อสุขภาพในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็น ข้าวฮาง ข้าวที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหาร ทำให้มี GABA เพิ่มขึ้น โปรตีนทางเลือกจากแมลงพื้นถิ่น อาทิ แมลงดานาและแมลงกุดจี่ ตลอดจนปลาแม่น้ำท้องถิ่น ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนไขมันต่ำที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ อีสานยังมีทรัพยากรที่จัดอยู่ในกลุ่มซูเปอร์ฟู้ดจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น หมากเม่า ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และ ผำ (พืชน้ำจืดพื้นถิ่น) ที่อุดมไปด้วยโปรตีน แร่ธาตุ และวิตามินจากธรรมชาติ รวมถึง สมุนไพรหลากชนิด ซึ่งมีศักยภาพในการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพทั้งในระดับครัวเรือนและเชิงอุตสาหกรรม

นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และบีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "องค์ประกอบทั้งหมดนี้นอกจากจะสะท้อนถึงความมั่งคั่งทางอาหารและสุขภาพในระดับชุมชน ยังชี้ให้เห็นโอกาสในการพัฒนาอาหารสุขภาพ (Functional Food) และผลิตภัณฑ์ Wellness ที่สามารถยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ภูมิภาคอีสานในระยะยาว โดยนอกจากนี้ จากข้อมูลวิจัยล่าสุดยังพบว่า ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบ 70% มีกิจกรรมทางกายในระดับที่เพียงพอตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ยังคงเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในชีวิตประจำวันและในรูปแบบกิจกรรมการทำงาน ที่สอดคล้องกับแนวทางการมีสุขภาพดีแบบยั่งยืน อีกทั้งยังพบว่าภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักและเส้นรอบเอวเกินเกณฑ์น้อยที่สุดในประเทศ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดด้านสุขภาพที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ"

นอกจากสุขภาพกายที่แข็งแรงแล้ว ชาวอีสานยังมีสุขภาวะทางจิตที่ดี จากวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่เอื้อต่อความผ่อนคลายและสมดุลทางอารมณ์ โดยเฉพาะ ดนตรีหมอลำ ซึ่งถือเป็นภาษาหัวใจของชุมชน มีบทบาททั้งด้านบันเทิงและการคลายความเครียดในชีวิตประจำวัน ในขณะเดียวกัน ภูมิภาคนี้ยังเป็นที่ตั้งของสถานปฏิบัติธรรมและวัดป่าที่สำคัญของประเทศ ซึ่งช่วยส่งเสริม สุขภาวะทางจิตวิญญาณ และสนับสนุนแนวทางการมีชีวิตอย่างสมดุล ตามหลักของ Wellness อย่างแท้จริง

"ปัจจัยเหล่านี้ ไม่เพียงตอกย้ำถึงศักยภาพพื้นฐานด้านสุขภาพของประชากรในพื้นที่ แต่ยังส่งสัญญาณเชิงบวกต่อการลงทุนและพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจเวลเนสอย่างยั่งยืน โดยอาศัยแนวทางที่ยึดโยงกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์สมัยใหม่ เพื่อนำพาภาคอีสานสู่จุดหมายปลายทางด้านสุขภาพระดับโลกได้อย่างสมบูรณ์" นายแพทย์ตนุพล กล่าวเพิ่มเติม

ผนึกพลังภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน: #TeamThailand วิสัยทัศน์ BDMS Wellness Clinic กับอนาคตของ Wellness ประเทศไทย

ด้วยความมุ่งมั่นของ BDMS Wellness Clinic ภายใต้การบริหารงานของ นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าผลักดันการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผ่านการสร้าง #TeamThailand เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพไทย โดยเฉพาะการต่อยอดศักยภาพของภาคอีสานให้กลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้าน Wellness ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้าน Wellness Tourism และ Wellness Economy ในระดับโลก ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทประเทศไทยในระยะยาว

"ประเทศไทยมีจุดแข็งมากมาย ทั้งในแง่ทรัพยากร บุคลากร และวัฒนธรรม ที่พร้อมต่อยอดสู่การเป็นผู้นำด้าน Wellness ระดับโลก หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง เราจะสามารถสร้างระบบสุขภาพที่ไม่เพียงดูแลผู้ป่วย แต่ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดีตั้งแต่ต้นทาง และในขณะเดียวกัน ยังสามารถสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตไปพร้อมกับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน" นายแพทย์ตนุพล กล่าวปิดท้าย