กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) - สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการออกแบบเพื่อสังคม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย ทรู คอร์ปอเรชั่น และ คลาวด์แอนด์กราวด์ ผนึกกำลังผ่าทางตันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกับบริบทใหม่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเบนเข็ม ตลาดแข่งดุ ขีดความสามารถลด ผุดโครงการการกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในเมืองน่าเที่ยวผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์จากการวิเคราะห์ข้อมูลบันทึกการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ภายใต้งบประมาณจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) พร้อมโชว์ 6 เส้นทางศักยภาพ Routes to Roots สำรวจรากวัฒนธรรมไทย นำร่องการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์
ท่องเที่ยวไทยภายใต้บริบทใหม่
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือเป็น "เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ" ที่สำคัญของไทย ซึ่งในปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยพุ่งทะยานถึงระดับเกือบ 40 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ให้กับประเทศถึงราว 19% รั้งอันดับ 4 ของโลกที่มูลค่า 60.5 พันล้านบาท จนเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ภูมิทัศน์ทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นำโดยญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการเติบโตกว่าเท่าตัวที่ 112% ตามด้วยเวียดนามที่ 68% และไทย 47% และเมื่อเทียบกับยุคก่อนโควิด-19 อัตราการฟื้นตัวของไทยยังคงติดลบ 12% ทำให้สัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีลดลงมาที่ 14% โดยมีปัจจัยลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ต่างชูจุดเด่น-ออกกลยุทธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น การใช้กลยุทธ์ด้านราคาและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ของเวียดนาม ด้านอินโดนีเซียชูเอกลักษณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ ความหรูหราสะดวกสบายในราคาที่เข้าถึงได้ ขณะที่สิงคโปร์ยังคงเน้นลงทุนแหล่งท่องเที่ยวสร้างใหม่ (Man-Made) ที่หรูหรา สะดวก และปลอดภัย ขณะที่ญี่ปุ่นโหมโรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความสวยงามผ่านเมืองท่องเที่ยวต่างๆ พร้อมด้วยความสะดวก ปลอดภัยในราคาที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
เพิ่มศักยภาพท่องเที่ยวไทยด้วย Cluster Tourism
จากการศึกษาภายใต้โครงการ Data Playground ของทรู ผ่านข้อมูลการเดินทาง (mobility data) ของนักเดินทางระหว่างปี 2566 - 2567 คิดเป็นจำนวนกว่า 500 ล้านทริป พบรูปแบบการเดินทางที่สำคัญที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็น "เมืองน่าเที่ยว" ที่เอื้อต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการวางแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อาศัยเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่เชื่อมโยงเป็นเส้นทางการเดินทางใหม่ๆ ภายใต้ "กลยุทธ์การท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์" (Cluster Tourism)
จากการวิเคราะห์เครือข่ายการเดินทางผ่าน mobility data พบว่า ประเทศไทยมีเส้นทางศักยภาพถึง 21เส้นทางที่สามารถพัฒนาสู่การท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์ ตัวอย่างเช่น เชียงใหม่-ลำปาง-ลำพูน, นครปฐม-ราชบุรี-กาญจนบุรี, เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม, ขอนแก่น-ชัยภูมิ เป็นต้น ทั้งนี้ กลุ่มคลัสเตอร์จะมีศักยภาพในการพัฒนาสู่เส้นทางท่องเที่ยวได้นั้น จำต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่
- มีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการกำหนดอัตลักษณ์ของแต่ละคลัสเตอร์
- มีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่น ซึ่งช่วยให้เห็นลักษณะและพื้นที่กระจุดตัวของกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เกิดการทำการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ
- เห็นบทบาทของแต่ละจังหวัดในแต่ละคลัสเตอร์ โดยพบว่าแต่ละเส้นทางจะประกอบด้วยเมืองศูนย์กลาง เมืองบริวาร และเมืองส่งเสริมพิเศษ
- จำต้องคำนึงถึงการรับมือผลกระทบทางการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ เพื่อป้องกันสภาวะ overtourism และส่งเสริมให้สอดคล้องกับความสามารถในการรองรับ (carrying capacity)
- มีความเป็นไปได้ในการขยายโอกาสด้านการท่องเที่ยวสู่พื้นที่ใหม่ๆ ด้วยการกระจายนักท่องเที่ยวสู่พื้นที่เป้าหมาย
ศ.ดร. คมกฤต เล็กสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) อธิบายถึงแนวทางการวิจัยและการพัฒนาประเทศไทยว่า "สกสว.เชื่อมั่นว่างานวิจัยและนวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่ แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาเชิงระบบ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก งานวิจัยที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเชิงลึกจากงาน Routes to Roots ชี้ให้เห็นว่า การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นระบบสามารถนำไปสู่มุมมองใหม่ในการกำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคุณค่า ความยั่งยืน และการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้วิสัยทัศน์ 'SRI for All' ขับเคลื่อนฉากทัศน์ใหม่ของ สกสว. เพื่อพลิกโฉมประเทศสู่อนาคต สกสว.มุ่งมั่นเดินหน้าสนับสนุนการวิจัยเชิงพื้นที่ ที่สร้างผลกระทบในระดับชุมชนและประเทศ พัฒนานโยบายที่เข้าถึงทุกภาคส่วน และทำให้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเป็นเรื่องของทุกคนอย่างแท้จริง"
นายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล และ (รักษาการ) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกลุ่มธุรกิจองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "Mobility Data เป็นกุญแจสำคัญในการวางยุทธศาสตร์ให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยก้าวข้ามความท้าทายที่เผชิญอยู่ พร้อมสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งภาคการท่องเที่ยวและพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ข้อมูลนี้เปิดโอกาสให้เรายกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวได้ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความคล่องตัวในการเดินทาง การบริหารจัดการความหนาแน่นของผู้คนในสถานที่ท่องเที่ยว หรือแม้แต่การเตรียมตัวรับมือเหตุฉุกเฉิน ทั้งยังช่วยในการนำเสนอประสบการณ์ เส้นทาง หรือแคมเปญการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่สะท้อนเรื่องราวจากวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละท้องที่ นำไปสู่การสร้างโอกาส กระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการและชุมชนให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น และสร้างความได้เปรียบใหม่ๆ ในการแข่งขันให้กับประเทศไทยบนเวทีโลก"
ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย รองผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการออกแบบเพื่อสังคม และผู้ช่วยคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "จากบริบทใหม่ด้านการแข่งขัน การปั้น "ซัพพลาย" ใหม่จะช่วยยกระดับการท่องเที่ยวไทย เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน พร้อมกับกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจสู่พื้นที่ศักยภาพใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า "เมืองน่าเที่ยว"
"กลยุทธ์การท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์นี้ ช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยทั้งนักนโยบาย นักการตลาด นักธุรกิจ นักลงทุน ผู้ประกอบการรายย่อย เห็นภาพอุตสาหกรรมด้วยมุมมองใหม่ๆ เห็นโอกาสใหม่ๆ กลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ รูปแบบการเดินทางใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตโดยอยู่บนพื้นฐานแห่งความยั่งยืน โดยเฉพาะในยุคที่คุณค่า ความหมาย และประสบการณ์ที่แท้จริง คือ ความต้องการของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน" ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ กล่าว อ่านรายละเอียดคลัสเตอร์เพิ่มเติมได้ที่ https://true.th/blog/routes-to-roots-cluster/
Routes to Roots สำรวจรากวัฒนธรรมไทย
จากการศึกษาซึ่งพบ 21 กลุ่มคลัสเตอร์การท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ The Cloud ได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาผสานกับความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดผลการศึกษา ยกระดับการท่องเที่ยวไทยผ่าน 6 คลัสเตอร์นำร่องเมืองน่าเที่ยวในแต่ละภูมิภาค จนออกมาเป็น Routes to Roots: 6 ทริป 6 เส้นทางสำรวจรากวัฒนธรรมไทย เส้นทางท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัดที่มีความเชื่อมโยงกันด้านพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยว ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ให้รู้จักวัฒนธรรมร่วมของพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย ได้แก่
- Food Route เส้นทางกินเพื่อรู้จักวัฒนธรรมอาหารภาคตะวันออกที่จันทบุรีและตราด พื้นที่ที่อุดมด้วยวัตถุดิบที่มีเพียงหนึ่งเดียว หาไม่ได้ในพื้นที่อื่น โดยเฉพาะสมุนไพร เครื่องเทศ อย่าง เร่ว กระทือ ไพล กระต่ายจาม ขิงแก่ที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมของอาหารพื้นบ้านหลายชนิด เช่น ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง เส้นจันท์ผัดปู และข้าวมันไก่น้ำพริกเผา
- Volcano Route เส้นทางสำรวจวัฒนธรรมตามเส้นทางภูเขาไฟที่ดับสนิทของ 3 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ซึ่งรวบรวมความเป็น "ที่สุด" เอาไว้ ทั้งมีภูเขาไฟมากที่สุด มีปราสาทหินเยอะที่สุด มีแหล่งทอผ้าไหมใหญ่ที่สุด มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายมากที่สุด
- Flavor Route สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ออกเดินทางเพื่อค้นหาแหล่งวัตถุดิบสำคัญของอาหารในประเทศไทย เช่น อาหารทะเล เกลือ น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด มะนาว พร้อมเรียนรู้ภูมิปัญญาและวิธีการใช้วัตถุดิบ ชิมอาหารพื้นบ้านจากร้านอาหารที่ไม่ควรพลาด ลงมือทำอาหารเพื่อเข้าใจกระบวนการและที่มาของรสชาติ
- Lanna Culture Route เส้นทางเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนา ผ่านสถาปัตยกรรม ศิลปะ และอาหารของเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง รากฐานแห่งวัฒนธรรมและอารยธรรมกว่าพันปีที่เสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้เบ่งบานบนผืนดินถิ่นเหนือและดินแดนล้านนา ศูนย์กลางเศรษฐกิจทางน้ำแหล่งธุรกิจการค้าของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ
- Nature Route เส้นทางที่จะพาไปรู้จัก และสัมผัสธรรมชาติของนครศรีธรรมราชและพัทลุง
- River Route เส้นทางเรียนรู้วัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับสายน้ำของสุพรรณบุรี อุทัยธานี และชัยนาท
ติดตามเส้นทางท่องเที่ยวที่กำลังจะเกิดขึ้นอีก 2 เส้นทางในทริป The Cloud Journey : Routes to Roots ที่กำลังจะเปิดรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ readthecloud.co และ Facebook: The Cloud
ภาพหมู่ จากซ้ายไปขวา
- นายช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการบริษัท คลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด
- ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
- นายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล และ (รักษาการ) หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านกลุ่มธุรกิจองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- ศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
- ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.
- ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการออกแบบเพื่อสังคม