กรุงเทพ--9 ก.ย.--โบอิ้ง โรงงานเอเวอเรตต์ รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา-- โบอิ้ง คอมเมอร์เชียล แอร์เพลน กรุ๊ป วันนี้เคลื่อนโบอิ้ง 777-300 เครื่องบินเจ๊ตพาณิชย์ลำตัวยาวที่สุดในโลกลำแรกที่ประกอบเสร็จจากสายการผลิตของโรงงานแห่งนี้ ออกสู่สายตาประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก และเริ่มนำขึ้นบินทดสอบ ท่ามกลางลูกค้า ผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายร้อยคน และพนักงานโบอิ้งอีกนับพัน มร.รอน ออสโทรสกี้ รองประธานและผู้จัดการทั่วไปโครงการผลิตเครื่องบิน 777 เปิดเผยว่า "แม้โบอิ้ง 77-300 เป็นเครื่องบินลำตัวยาวมาก แต่บริษัทฯ ได้เตรียมการไว้ตั้งแต่แรกให้โรงงานแห่งนี้สามารถประกอบเครื่องบินในตระกูลได้ทั้ง 3 รุ่นบนสายการผลิตเดียวกัน" "พนักงานโบอิ้งได้เริ่มประกอบชิ้นส่วนหลักของโบอิ้ง 777-300 ลำนี้ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา โดยสามารถประกอบแล้วเสร็จ และเคลื่อนเครื่องบินเจ๊ตพาณิชย์ลำตัวยาวที่สุดในโลกลำนี้ออกจากโรงงานได้ภายในเวลาเพียง 5 เดือน ซึ่งทักษะและความทุ่มเทของพนักงานระดับนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของโบอิ้งในการผลิตเครื่องบินที่ดีที่สุดในโลก" โบอิ้ง 777-300 เป็นเครื่องบินรุ่นล่าสุดและมีขนาดใหญ่สุดในตระกูลโบอิ้ง 777 โดยมีความยาวจากหัวจรดหาง 73.8 เมตร ยาวกว่ารุ่น 777-200 ถึง 10.1 เมตร จึงขนส่งผู้โดยสารได้ 368-550 ที่นั่ง มากกว่ารุ่น 777-200 ถึง 20% แม้โบอิ้ง 777-300 มีลำตัวยาวกว่าเครื่องบินโบอิ้งจัมโบ้ 747-400 ถึง 3.1 เมตร แต่จัมโบ้ 747-400 ยังรักษาตำแหน่งเครื่องบินเจ็ตพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากขนส่งผู้โดยสารได้ 420-568 ที่นั่ง สามารถรับน้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 396,890 กิโลกรัม และมีพิสัยบิน 13,340 กิโลเมตร (8,290 ไมล์ หรือ 7,204 ไมล์ทะเล) ในขณะที่โบอิ้ง 777-300 สามารถรับน้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 299,370 กิโลกรัม จุน้ำมันเชื้อเพลิง 171,160 กิโลกรัม ซึ่งเท่ากับเครื่องบินรุ่นพิสัยบินไกล 777-200 IGW และสามารถบินเส้นทางต่าง ๆ ได้ไกลถึง 10,500 กิโลเมตร (6,560 ไมล์ หรือ 5,700 ไมล์ทะเล) เครื่องบิน 777-300 สามารถตอบสนองความต้องการของสายการบินที่ต้องการทดแทนเครื่องบินจัมโบ้เจ็ต 747 รุ่นแรก ๆ เนื่องจากโบอิ้ง 777-300 ขนส่งผู้โดยสารได้เกือบเท่ากับ 747-100 และ 747-200 แต่สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเพียง 1 ใน 3 และมีค่าซ่อมบำรุงน้อยลง 40% เป็นผลให้มีค่าใช้จ่ายในการใช้งานน้อยกว่าเครื่องบินจัมโบ้ 747 รุ่นแรก ๆ ถึง 1 ใน 3 หลังจากริเริ่มโครงการผลิตเครื่องบิน 777-300 ในเดือนมิถุนายน 2538 โบอิ้งได้เสร็จสิ้นขั้นตอนการพัฒนาเครื่องบินในเดือนตุลาคม 2538 จากนั้นได้ตั้งเป้าหมายนำเครื่องบินรุ่นนี้ออกบริการผู้โดยสารภายใน 32 เดือน โดยกำหนดส่งมอบลำแรกให้กับสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิคในเดือนพฤษภาคม 2541 มร.ปีเตอร์ ซูตช์ ประธานกรรมการบริหารคาเธ่ย์แปซิฟิค กล่าวว่า "เราเลือกใช้โบอิ้ง 777-300 เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการของเรา ทั้งด้านขีดความสามารถ ความประหยัด ในการใช้งาน และพิสัยบิน รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้คาเธ่ย์แปซิฟิคเติบโต โดยนำไปบินเสริมเส้นทางต่าง ๆ ในภูมิภาคที่มีผู้โดยสารเดินทางหนาแน่น" สายการบินอื่นที่ซื้อโบอิ้ง 777-300 ได้แก่ การบินไทย ออลนิปปอนแอร์เวย์ เจแปนแอร์ไลน์ส โคเรียนแอร์ สายการบินมาเลเซีย และสิงคโปร์แอร์ไลน์ส มา.แลรี่ ดิกเคนสัน รองประธานภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค โบอิ้ง คอมเมอร์เชียล แอร์เพลน กรุ๊ป กล่าวว่า "กลุ่มสายการบินเอเซียต่างให้ความไว้วางใจเครื่องบินตระกูล 777 ในด้านประสิทธิภาพ และขีดความสามารถสูงสุด เพื่อการปรับโฉมหน้าการเดินทางทางอากาศระหว่างเอเซียกับส่วนอื่น ๆ ของโลก และภายในเอเซีย เราขอชื่นชมบทบาทผู้นำของคาเธ่ย์แปซิฟิค และขอขอบคุณที่แสดงความมั่นใจสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 777-300 ตั้งแต่แรก" เครื่องบินโบอิ้ง 777-300 สามารถบินบริการผู้โดยสารได้ในเส้นทางระหว่าง โตเกียว-สิงคโปร์ ฮอนโนลูลู-โซล หรือซานฟรานซิสโก-โตเกียว โดยเครื่องยนต์แรงขับเคลื่อน 90,000 ปอนด์ จากแพรตต์แอนด์วิตนีย์ โรลสรอยซ์ และเจนอรัล อิเล็กทริค (จีอี) ตระกูลโบอิ้ง 777 ครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 67% ของเครื่องบินในกลุ่มเดียวกัน ตั้งแต่เริ่มเปิดตัวในเดือนตุลาคม 2533 โดยโบอิ้งได้รับใบสั่งซื้อจากสายการบิน 25 รายทั่วโลก จำนวน 323 ลำ และส่งมอบเครื่องบินตระกูล 777 จนถึงวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ให้กับสายการบิน 13 ราย จำนวน 85 ลำ--จบ--