เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เวลา 09.30 น. นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงานฯ ลงพื้นที่สนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." ในพื้นที่อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี
โดยการลงพื้นที่ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนี้ ได้ร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ปลูกต้นไม้ยางนา มะพร้าวน้ำหอม กล้วยหอมทอง ต้นไผ่ พริก และห่มดินด้วยฟาง บนคันนาทองคำ ณ แปลงนายบุญกอง ฉิมพลี หรือที่ขนานนามว่า "โคก หนอง นา" พามีแฮง พื้นที่ 3 ไร่ บ้านหนองบั่ว หมู่ที่ 3 ตำบลแก่งเค็ง อำเภอกุดข้าวปุ้น และร่วมกิจกรรมทำน้ำหมัก จากหยวกกล้วย และสารไล่แมลงใบยูคาลิปตัสและใบสะเดา ณ แปลงนายปรีชา นามบุตร พื้นที่ 3 ไร่ บ้านฟ้าห่วน หมู่ที่ 4 ตำบลแก่งเค็ง อำเภอกุดข้าวปุ้น โดยมี นางจริญญา บุญธรรม พัฒนาการอำเภอกุดข้าวปุ้น เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ตลอดจนผู้นำชุมชนและตัวแทนครัวเรือนใกล้เคียงในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรมฯ
สำหรับอำเภอกุดข้าวปุ้น นั้น มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการฯ ทั้งสิ้น 32 แปลง แยกเป็นโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง งบกรมการพัฒนาชุมชน พื้นที่ 1 ไร่ 7 แปลง และพื้นที่ 3 ไร่ 7 แปลง รวม 14 แปลง / งบเงินกู้รัฐบาล แปลง HLM พื้นที่ 1 ไร่ 5 แปลง และพื้นที่ 3 ไร่ 5 แปลง มีการจ้างงานนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จำนวน 10 คน และได้รับงบประมาณโครงการฯ รวม 2,026,200 บาท และมีความคืบหน้าในการดำเนินการจัดทำสัญญา PO ในภาพรวมทุกกิจกรรมแล้ว 1,269,685 บาท คิดเป็นร้อยละ 62.67 (ข้อมูลวันที่ 18 พฤษภาคม 2564)
โอกาสนี้ นายธงชัยฯ ได้พบปะและมอบแนวทางแก่กลุ่มเป้าหมายและนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ว่า "ขอชื่นชมการดำเนินการปรับพื้นที่ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้วตามกำหนด เพื่อเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน ขอให้ทุกท่าน ร่วมเดินหน้าสร้างประวัติศาสตร์ในการดำเนินโครงการ ซึ่งจังหวัดฯ ของเรานั้น มีกลุ่มเป้าหมายดำเนินโครงการฯ มากที่สุดในประเทศไทย ถึง 3,960 แปลง จึงขอฝากให้ทุกท่าน ได้สานต่อแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อสร้างทางรอดหรือแหล่งเรียนรู้ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่คนในชุมชน โดยมีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานหลัก และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน คอยเป็นพี่เลี้ยงในการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่าง ๆ ก่อเกิดผลดีต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้สามารถพึ่งตนเอง สร้างงาน สร้างรายได้ อย่างยั่งยืนต่อไป"
ที่มา: อิมเมจ โซลูชั่น