ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรสู่การธนาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Banking) อย่างแท้จริง ครองอันดับหนึ่ง "การเงินที่เป็นธรรม" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จากการประเมินโดยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ปี 2564 ด้วยคะแนนรวมสูงสุดที่ 54.47 คะแนน โดยธนาคารโดดเด่นในหมวด "สิทธิมนุษยชน" พร้อมสานต่อพันธกิจสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทยทั้งประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในระยะยาว
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เปิดเผยว่า ทีเอ็มบีธนชาตให้ความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนองค์กรสู่การธนาคารที่ยั่งยืนมาโดยตลอด การได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี จากการประเมินโดย Fair Finance Thailand สะท้อนชัดถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงและความเชื่อเดียวกันของทุกภาคส่วนในองค์กร โดยมีทั้งพนักงาน ผู้บริหาร และคณะกรรมการร่วมกันผลักดันสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจให้ธนาคารพัฒนาต่อไปอีก
"ทีเอ็มบีธนชาตมองว่าการดำเนินธุรกิจกับความยั่งยืนแยกออกจากกันไม่ได้ ดังนั้น ธุรกิจจะดำเนินได้ดีและยั่งยืน สิ่งสำคัญ คือ ต้องมั่นใจว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น และหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ได้รับทั้งผลประโยชน์และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบจากการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนต้องเริ่มจากภายใน ทำให้ทุกคนเห็นภาพและมีความเชื่อเดียวกัน และเดินหน้าไปพร้อมกันในทุกภาคส่วนจะทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้และจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ธนาคารดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือ การสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น หรือ Financial Well-being ให้กับคนไทยทั้งประเทศ อันเป็นรากฐานที่จะช่วยให้ทุกคนบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ โดยมุ่งเน้นให้พนักงานทุกคนในองค์กรใช้เรื่องนี้เป็นแก่นสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ รวมถึงโซลูชันทางการเงินต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทุกช่วงชีวิต"
นายปิติ กล่าวสรุปว่า "ทิศทางการสร้างความยั่งยืนของทีเอ็มบีธนชาตในระยะสั้น คือ การเร่งช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่การทำให้ทุกคนมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงจะเป็นการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวได้ ซึ่งเชื่อว่าหากผลักดันได้สำเร็จ ในอนาคตหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันอีก คนไทยจะมีความพร้อมรับมือได้ดีขึ้น เพราะธนาคารจะแข็งแกร่งไม่ได้ หากสุขภาพทางการเงินของลูกค้าไม่เข้มแข็ง และเราเชื่อว่าต่อให้ธนาคารมีผลประกอบการที่ดี ฐานะการเงินที่มั่นคง แต่ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ไม่ดี สุดท้ายระยะยาวเราก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน"
ด้านนายนริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า แนวคิดการดำเนินธุรกิจของทีเอ็มบีธนชาตได้ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนอยู่แล้ว และพร้อมผลักดันอย่างเต็มกำลัง ซึ่งการที่ Fair Finance Thailand มาช่วยประเมินเป็นตัวชี้วัดได้ว่าสิ่งที่ธนาคารทำมาเพียงพอหรือยัง และสามารถเพิ่มเติมส่วนไหนได้อีก เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล ซึ่งการได้รับคะแนนสูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เป็นการยืนยันว่าสิ่งที่ธนาคารดำเนินการมานั้นเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยได้รับการยอมรับจากองค์กรภายนอก
ทั้งนี้ ทีเอ็มบีธนชาตครองอันดับหนึ่ง "การเงินที่เป็นธรรม" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วยคะแนนรวมสูงสุดที่ 54.47 คะแนน จากคะแนนรวม 130 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 41.9% โดยได้รับคะแนนโดดเด่นในหมวด "สิทธิมนุษยชน" จากการประกาศแนวปฏิบัติเพิ่มเติมด้านสิทธิมนุษยชนที่บริษัทลูกค้าต้องปฏิบัติตาม ตามแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ในระดับสากล และเป็นสถาบันการเงินที่ได้คะแนนเกณฑ์การประเมินหมวด "สุขภาพ" เป็นปีแรก จากการกำหนดให้บริษัทลูกค้าเคารพในสิทธิแรงงานว่าด้วยสุขอนามัยและความปลอดภัยในที่ทำงาน
นอกจากนี้ ทีเอ็มบีธนชาตยังให้ความสำคัญกับการขยายบริการทางการเงิน มีการออกนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องระยะเวลาการพิจารณาสินเชื่ออย่างมีมาตรฐาน และไม่ละทิ้งการออกมาตรการด้านความคุ้มครองต่าง ๆ รวมทั้งการเสนอผลิตภัณฑ์ บริการทางการเงินต่าง ๆ ที่เข้าถึงได้ง่ายและปลอดภัยแก่ลูกค้ามากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารก็ให้ความสนใจด้านความเท่าเทียมทางเพศ โดยมีการกำหนดเงินเดือนและโบนัสที่เป็นธรรม รวมถึงการเปิดเผยช่องว่างค่าตอบแทนระหว่างเพศหญิงและชาย
"ทีเอ็มบีธนชาต มองเรื่องความยั่งยืนเป็นแก่นสำคัญ โดยที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม เราจึงเลือกเดินในสิ่งที่เราเชื่อ คือ การสร้าง Financial Well-being ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า ทำให้เรื่องการเงินเป็นเรื่องง่ายและต่อยอดให้จับต้องได้มากขึ้น ผ่านการพัฒนาดิจิทัลโซลูชัน ที่จะเข้าถึงและช่วยเหลือคนไทยให้มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าสิ่งนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวได้อย่างแท้จริง" นายนริศกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: ชมฉวีวรรณ