นายสุชาติ กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีของไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการยกระดับศักยภาพกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการผู้ประกอบการและแนวทางในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงแรงงานเข้าใจดีว่าสภาหอการค้าของซาอุดีอาระเบียเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการมีส่วนช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาล เอกชน และภาคแรงงานเอง เพื่อให้การส่งเสริมการค้า การลงทุน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สอดรับกับแนวทางการพัฒนาประเทศ กระทรวงแรงงาน จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนกำลังแรงงานที่มีทักษะฝีมือตามความต้องการของซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้การดำเนินการจัดส่งแรงงานฝีมือมาทำงานในซาอุดีอาระเบียบรรลุวัตถุประสงค์ตามกรอบความตกลงด้านแรงงานและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งซาอุดีอาระเบียก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1890 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงริยาด เพื่อดูแลผลประโยชน์ร่วมกันของหอการค้าและอุตสาหกรรมทั้ง 28 แห่งในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นตัวแทนในระดับท้องถิ่นและระดับต่างประเทศ ทั้งนี้ สภาหอการค้าได้ดูแลเกี่ยวกับการพัฒนาบทบาทของภาคเอกชนในระบบเศรษฐกิจของประเทศให้บรรลุไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบีย โดยการร่วมมือและประสานงานกับหอการค้าและอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดภายใต้กรอบทิศทางการซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ มีส่วนช่วยให้วิสัยทัศน์ 2030 ได้บรรลุตามเป้าหมาย และการดำเนินการตามแผนงาน มีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการจัดทำระบบและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งยกระดับภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และบทบาทการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศให้สามารถเกิดความร่วมมือทางการค้ากับประเทศพันธมิตรได้อีกด้วย ทั้งนี้ สภาหอการค้าซาอุดีอาระเบีย ยังได้กล่าวชื่นชมแรงงานไทยที่มีทักษะฝีมือ ขยัน มีความรับผิดชอบ เป็นที่ต้องการของนายจ้าง ซึ่งสภาหอการค้าฯ ยินดีอย่างยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนการนำเข้าแรงงาน รองรับการค้าการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสองประเทศต่อไป
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ยังได้มอบหมายให้ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะ ตรวจเยี่ยมบริษัทจัดหางาน SMASCO เพื่อรับฟังการดำเนินการในส่วนของกระบวนการนำเข้าแรงงานของบริษัทในภาพรวม รวมถึงระบบของกระบวนการจัดการที่เกี่ยวข้องการจัดส่งแรงงาน เพื่อลดการเกิดปัญหาการนำเข้าแรงงานและผลประโยชน์ต่อแรงงานให้มากที่สุด รวมถึงศักยภาพของบริษัทในการบริหารจัดการด้านการนำเข้าแรงงานที่มีประสิทธิภาพ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลตำแหน่งงานว่างที่พร้อมรับคนไทย ซึ่งขณะนี้ซาอุดีอาระเบียต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะงานบริการ โลจิสติกส์ ภาคบริการสุขภาพ การผลิต การก่อสร้าง ซึ่งคุณสมบัติที่ต้องการ หากแรงงานมีความสามารถด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาพื้นฐานอย่างภาษาอังกฤษ รวมถึงภาษาอาราบิกด้วยจะดีมาก
ที่มา: กระทรวงแรงงาน