เดินหน้าความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ประเทศไทย - อังกฤษ เตรียมพัฒนาแนวทางนำข้อมูลพันธุกรรมใช้ประโยชน์วิจัย วินิจฉัยรักษา ในไทย

พุธ ๑๐ พฤษภาคม ๒๐๒๓ ๑๗:๐๕
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ในฐานะอนุกรรมการกำกับทิศทางแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย

ประกอบด้วย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร นพ.จักรกฤษณ์ เอื้อสุนทรวัฒนา ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดร.นุสรา สัตย์เพริศพราย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รศ.ดร.นพ.พงศกร ตันติลีปิกร ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ววน. และด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ทพ.จเร วิชาไทย น.ส.บุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ร่วมประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ประเทศไทยและสหราชอาณาจักรฯ (Genomics Cooperation Thailand - UK) กับผู้แทนจากหลายหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขและสังคมแห่งสหราชอาณาจักรฯ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

โดยสาระสำคัญจากการประชุมมีประเด็นเรื่องการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลพันธุกรรมและข้อมูลการเจ็บป่วยเพื่อนำมาพัฒนาการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิดและเด็ก โดยประเทศอังกฤษ นำเสนอว่า อังกฤษมีแหล่งข้อมูลพันธุกรรมและข้อมูลทางคลินิกที่เปิดให้นักวิจัยทั่วโลกสามารถเข้าถึงและนำไปใช้สำหรับการวิจัยเชิงลึกเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม โดยมีแหล่งข้อมูลทางพันธุกรรม เช่น UK Biobank ที่ได้รวบรวมข้อมูลจากอาสาสมัครจำนวน 400,000 ราย แบ่งเป็นข้อมูลการติดตามการเจ็บป่วยโรคต่างๆ เช่น โรคโควิด-19 โดยนักวิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลพันธุกรรมผ่านระบบการเข้าถึงข้อมูล และข้อมูลการเจ็บป่วยเพื่อนำมาใช้ในการศึกษาทางระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ได้ ทั้งนี้ การใช้ข้อมูลจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าถึงข้อมูล โดยมีข้อปฏิบัติสำคัญ คือต้องส่งผลการวิจัยกลับมาให้กับ UK Biobank เพื่อการต่อยอดทางวิชาการ โดยทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดยังเป็นของผู้วิจัย ส่วนฐานข้อมูลของ UK bioresource program ภายใต้ NIHR (กระทรวงสาธารณสุขและสังคมแห่งสหราชอาณาจักรฯ) จะเก็บข้อมูลพันธุกรรมและเปิดให้เข้าถึงชุดข้อมูลพันธุกรรมของอาสาสมัครปกติ(กลุ่มประชาชนทั่วไป) ในลักษณะที่สามารถติดตาม (recallable) ข้อมูลพันธุกรรมและข้อมูลทางคลินิกในอาสาสมัครกลุ่มนี้ได้ และทาง NIHR เตรียมที่จะขยายเก็บข้อมูลพันธุกรรมไปยังกลุ่มเด็กและวัยรุ่นด้วย ส่วนทาง Genomics England เป็นการเก็บและให้เข้าถึงข้อมูลถอดรหัสพันธุกรรม หรือ Whole-genome sequencing (WGS) ในผู้ป่วยกลุ่มโรคหายาก และโรคมะเร็ง

โดยทั้ง 3 รูปแบบการเข้าถึงข้อมูลพันธุกรรมแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ประเทศอังกฤษ ยังคงหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และได้รับความยินยอมจากอาสาสมัครที่ให้ใช้ข้อมูลพันธุกรรมและข้อมูลป่วยของตนเพื่อประโยชน์สาธารณะด้านวิทยาศาสตร์และวิจัยเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะร่วมดำเนินกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาแนวทางการเข้าถึงข้อมูลพันธุกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย ให้แล้วเสร็จในปี 2566 เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคหายาก 10,000 รายแรก ได้รับประโยชน์จากการวิจัยด้านจีโนมิกส์ พร้อมกับพัฒนา/ผลิตนักวิจัยจำนวนมากเพื่อการวิจัย และคืนข้อมูลพันธุกรรมให้กับผู้ป่วยต่อไป

ที่มา: หน่วยงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ