OKMD จับมือ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ยกระดับศักยภาพบุคลากร

ศุกร์ ๑๒ พฤษภาคม ๒๐๒๓ ๑๕:๓๑
OKMD จับมือ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ยกระดับศักยภาพบุคลากร ปั้นธุรกิจสู่ความยั่งยืนด้วยหลักการเรียนรู้ของสมอง (Brain-based Learning)

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาองค์ความรู้ และให้บริการองค์ความรู้ เพื่อยกระดับความสามารถของแรงงานและเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบการ ด้วยแนวทางการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) ประเดิม "โครงการยกระดับสถานประกอบการสู่การผลิตที่ยั่งยืน ผ่านกระบวนการสอนงานตามหลักการเรียนรู้ของสมอง" (ESG On-boarding with Brain-based Learning) มุ่งติดอาวุธแก่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างสมดุลทั้งในด้านผลประกอบการ การดูแลสังคม และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวถึงความสำคัญและเป้าหมายของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า  "เพราะในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การแข่งขันทั้งทางด้านเศรษฐกิจแลสังคมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ เพื่อยกระดับทักษะความสามารถของแรงงานไทยและเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ"

"OKMD และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติจึงบูรณาการจุดเด่น ความถนัด และความเชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งได้แก่ ความเชี่ยวชาญในด้านการจัดการความรู้ (Knowledge Management หรือ KM) และการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain - based Learning หรือ BBL ของ OKMD และการเพิ่มผลิตภาพ โดยการให้ความรู้และพัฒนาด้านการผลิตและการบริหารจัดการของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ มาพัฒนาต่อยอดการศึกษาวิจัยและขยายผลแนวทางการนำองค์ความรู้ด้าน BBL ในการพัฒนาวิธีปฏิบัติงานและการสอนงานในโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ จำนวน 87 แห่ง ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในระหว่างปี พศ. 2555-2562 ซึ่งพบว่า พนักงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ลดความผิดพลาด และมีทักษะในการทำงานที่หลากหลาย สามารถเข้าใจภาระงาน และมีเทคนิคการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สอดรับกับสถานการณ์ในหลายโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจ้างพนักงานจำนวนน้อยลง แต่สามารถเพิ่มผลผลิต ลดของเสียและความผิดพลาด รวมถึงลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายลง"

"ในปีนี้เราจึงพัฒนาเป็นหลักสูตรบริการความรู้และพัฒนาทักษะกระบวนการที่จะเสริมสร้างผู้ประกอบการไทย ให้สามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ภายใต้หลักสูตรชื่อ การยกระดับสถานประกอบการสู่การผลิตที่ยั่งยืน ผ่านกระบวนการสอนงานตามหลักการเรียนรู้ของสมอง หรือ ESG On-boarding with Brain-based Learning โดยการนำกรอบแนวคิดการขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงประเด็นพื้นฐานใน 3 มิติสำคัญ มิติสิ่งแวดล้อม (Environmental) มิติสังคม (Social) และมิติธรรมาภิบาล หรือบรรษัทภิบาล  (Governance) ผนวกเข้ากับการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านการผลิต การปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยเครื่องมือผลิตภาพ ด้านการจัดการทรัพยากร และการถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติงานตามหลัก BBL"

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า "ในการร่วมมือครั้งนี้มีจุดเด่นที่สำคัญ คือ การให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการเพิ่มผลิตภาพของกระบวนการผลิต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน (ESG) โดยผู้ประกอบการหรือบุคลากร จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิด ESG ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับองค์กรที่มีวิธีปฏิบัติที่ดี ในเรื่องดังกล่าว และเรียนรู้การใช้เครื่องมือผลิตภาพสำหรับการจัดการทรัพยากร (Resource Productivity Techniques) ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง การออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรม และกระบวนการให้คำปรึกษาแนะนำทั้งหมดนี้ จะสอดคล้องตามหลักการเรียนรู้ของสมอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจ สามารถจดจำและนำไปประยุกต์ใช้ได้ด้วยตนเอง โดยช่วงเริ่มต้นนี้จะเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการนำร่องจำนวน 5 องค์กร ใช้ระยะเวลาในดำเนินโครงการประมาณ 6 เดือน ก่อนที่จะขยายผลอย่างเต็มรูปแบบในปีต่อ ๆ ไป"

"ด้วยกิจกรรมและรูปแบบในการเรียนรู้ทั้งหมดได้ถูกออกแบบอย่างพิถีพิถันตามหลักการเรียนรู้ของสมอง (Brain-based Learning) ดังนั้น สิ่งที่องค์กรจะได้รับจึงไม่ใช่แค่การปรับปรุงกระบวนการผลิตขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาสมรรถนะของบุคลากรให้พร้อมสำหรับการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน" นายสุวรรณชัยกล่าวทิ้งท้าย

โดยในปี 2566 จะดำเนินโครงการนำร่อง เปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 5 องค์กร โดยผู้ที่เข้าร่วมจะได้รับการฝึกอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ ESG การปรับปรุงตามแนวทาง Resource Productivity Management และการถ่ายทอดกระบวนการทำงานรูปแบบใหม่

ข้อมูลเพิ่มเติม

ปี พ.ศ. 2555-2562  OKMD และ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการศึกษาวิจัยและขยายผลแนวทางการนำองค์ความรู้ด้านหลักการพัฒนาสมอง หรือ Brain-based Learning ไปใช้ในการพัฒนาวิธีปฏิบัติงานและการสอนงานในโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ จำนวน 87 แห่ง ผ่าน 4 โครงการสำคัญ  ได้แก่ (1) การศึกษาวิจัยแนวทางการนำองค์ความรู้ด้านสมองมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาทักษะฝีมือสำหรับพนักงานในภาคการผลิต (2) โครงการการขยายแนวคิดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-based Learning) สำหรับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานพนักงานภาคการผลิต (3) โครงการวิจัยและพัฒนาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรภาคบริการ และ (4) โครงการขยายผลแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานภาคการผลิต ตามหลัก BBL ในพื้นที่ EEC  โดยผลการศึกษาวิจัยพบว่า พนักงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ลดความผิดพลาด และมีทักษะในการทำงานที่หลากหลาย สามารถเข้าใจภาระงาน และมีเทคนิคการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สอดรับกับสถานการณ์ในหลายโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจ้างพนักงานจำนวนน้อยลง แต่สามารถเพิ่มผลผลิต ลดของเสียและความผิดพลาด รวมถึงลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายลง

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ หน่วยงานอิสระ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ทำหน้าที่ในการผลักดันและขับเคลื่อนความรู้ด้านผลิตภาพให้แก่องค์กรไทยในทุกภาคส่วนมากว่า 27 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ Redefining Productivity for Sustainable Success "ผลิตภาพนิยามใหม่ สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน" ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการส่งมอบองค์ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขัน ให้แก่บุคลากร องค์กร สังคม และประเทศ ผ่านการให้บริการปรึกษาแนะนำ บริการหลักสูตรอบรม การวิจัยพัฒนา การผสานความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับเครือข่าย ทั้งในและต่างประเทศ

www.ftpi.or.th

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD สังกัดสำนักนายกรัฐมาตรี

จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 โดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) มีวัตถุประสงค์หลักในระยะเริ่มแรกของการจัดตั้งเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสแสวงหา พัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาคุณภาพความคิดของประชาชนและเยาวชนของประเทศ มีพันธกิจคือ (1) จัดให้มีระบบการเรียนรู้สาธารณะและการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ภูมิปัญญาของประชาชน โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ทันสมัย (2) สร้างแหล่งบริการองค์ความรู้รูปแบบใหม่ที่ทันสมัย มีชีวิตชีวา และอุดมด้วยความรู้ที่สร้างสรรค์ (3) สร้างนวัตกรรมรูปแบบการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และ (4) ส่งเสริมเครือข่ายเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านต่างๆ

www.okmd.or.th

ที่มา: ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ