นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่จำเป็นต้องผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคการผลิต เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ผสมผสานกับเทคโนโลยีในการยกระดับผลิตภาพให้สามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะเวลาที่สั้นลง ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีภารกิจหลักสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั้งการผลิตในภาคการเกษตร ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจาก "ผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย" ไปสู่การผลิตสินค้าคุณภาพสูงที่ "ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก" รวมถึงการยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย ส่งเสริมการนำระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการการผลิต ตลอดจนการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่ต้องใช้นวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่มาใช้ ซึ่งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเข้ามามีบทบาทในการผลิตมากขึ้น สามารถทำงานได้รวดเร็วและผลผลิตมีคุณภาพสูง
นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า จากเหตุผลดังกล่าวจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการพัฒนาโปรแกรมหรือใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง หรือซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่เป็นระบบอัตโนมัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อให้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานได้พิจารณาก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อนำมาใช้ในการวัดทักษะ ความรู้ความสามารถให้แก่แรงงาน เพื่อให้บุคลากรหรือแรงงานที่ต้องทำหน้าที่ได้พัฒนาตนเองจนมีศักยภาพหรือทักษะผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และได้รับค่าจ้างตามความสามารถของตนเอง จำนวน 2 สาขา คือสาขานักออกแบบผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป (ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์) สาขานักพัฒนาโปรแกรมด้วยภาพและสัญลักษณ์ในระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม อีก 1 สาขาที่ได้สำรวจความต้องการจากกลุ่ม EEC คือ สาขาช่างบำรุงรักษาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เสนอคณะกรรมการพิจารณาให้จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเพิ่ม เนื่องจากสาขานี้มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพราะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคการผลิต การบำรุงรักษาจึงจำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีความรู้และทักษะเฉพาะด้านในการปฏิบัติงาน
"กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้เร่งสำรวจความต้องการจากผู้ประกอบกิจการในแต่ละภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติขึ้น เพื่อใช้วัดระดับทักษะให้แก่แรงงานผู้ปฏิบัติงานในแต่ละตำแหน่ง ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี อีกทั้งเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจ่ายอัตราค่าจ้าง สามารถการันตีระดับทักษะฝีมือด้วยเกณฑ์การวัดของมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติได้ เป็นประโยชน์ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง การดำเนินงานดังกล่าวสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน" อธิบดีบุปผากล่าว
ที่มา: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน