นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องน้ำ เป็นปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญระดับชาติ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการและออกแบบการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิต ในทุกมิติให้กับพี่น้องประชาชน โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของ 7 ภาคีเครือข่าย ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามมิติการพัฒนาทั้ง 5 มิติ ทั้งมิติด้านสุขภาพ มิติด้านความเป็นอยู่ มิติด้านการศึกษา มิติด้านรายได้ และมิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ แห่งนี้ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่คลังยา คลังอาหาร ของชุมชนบ้านวังอ้อแล้ว ยังใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการศึกษาเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำชุมชน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good ในพื้นที่ทุกมิติ สร้างความตระหนักรู้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ ภายใต้แนวคิด "ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุข อย่างยั่งยืน : Sustainable Soil and Water for better life" ต่อไป
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา จังหวัดนครนายก จังหวัดจันทบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสตูล และจังหวัดอุบลราชธานี และยังขยายผลไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์แบบอารยเกษตรมาดำเนินการ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารายเกษตรตามแนวพระราชดำริ บริเวณตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ในที่ดิน นสล.2 แปลง ที่ดินราชพัสดุ 1 แปลง ที่สาธารณประโยชน์ "ห้วยงิ้ว" ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร และที่ดินของประชาชนที่ยินยอมให้ใช้ที่ดิน รวมเนื้อที่โครงการฯ ประมาณ 62 ไร่
โดยความร่วมมือและบูรณาการงบประมาณ เครื่องจักรกล วัสดุอุปกรณ์ ต้นกล้า เมล็ดพันธุ์ จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี องค์การบริหารส่วนตำบลหัวดอน องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน พร้อมด้วยจิตอาสาและภาคีเครือข่าย เมื่อมีการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ ตามที่ออกแบบวางผังไว้ จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 48,000 ลูกบาศก์เมตร ราษฎรได้รับประโยชน์ 234 ครัวเรือน พื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ชุมชน พื้นที่ป่าชุมชน ได้รับประโยชน์ รวมกว่า 3,600 ไร่
นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริ บริเวณตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ดำเนินการนำร่อง 1 ใน 6 จังหวัดของประเทศ เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ประยุกต์และอารยเกษตร ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาดำเนินการในที่ดินสาธารณประโยชน์หรือที่ดินของหน่วยงานภาครัฐ ขับเคลื่อนตามพระราชปณิธาน "สืบสาน รักษา ต่อยอด" โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของจิตอาสา และภาคีเครือข่าย อันจะก่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา: กรมโยธาธิการและผังเมือง