กทม. เดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ไปแล้ว 21 เขต ครบ 50 เขตภายใน 30 ส.ค. นี้

จันทร์ ๑๐ มิถุนายน ๒๐๒๔ ๑๗:๓๑
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ว่า การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เป็นการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ. 2562 ซึ่งมีขั้นตอนและระเบียบวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนตามระเบียบของคณะกรรมการผังเมือง รวมทั้งให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยที่ผ่านมา กทม. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร และหลังจากมีร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร โดยได้ประชาสัมพันธ์และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นรายกลุ่มเขตทั้งหมด 6 ครั้ง ระหว่างวันที่ 23 - 24 ธ.ค. 66 และจัดประชุมใหญ่ ณ ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 67 รวม 7 ครั้ง ซึ่งเป็นการดำเนินการเพิ่มเติมมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกภาคส่วนให้มากที่สุด
กทม. เดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ไปแล้ว 21 เขต ครบ 50 เขตภายใน 30 ส.ค. นี้

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนมีความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) อย่างหลากหลาย ทั้งในส่วนที่เห็นด้วยและส่วนที่คัดค้าน สวพ. จึงได้เสนอปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้ขยายระยะเวลาการรับฟังความคิดของประชาชนออกไปจนถึงวันที่ 30 ส.ค. 67 และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มเติมรายเขต 50 เขต ตั้งแต่เดือน เม.ย. - ส.ค. 67 ในวันหยุดราชการ (เสาร์ - อาทิตย์) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในแต่ละเขตได้รับทราบข้อมูลการปรับเปลี่ยนผังเมืองรวมรายเขตของตนเองอย่างละเอียดรอบด้าน ทั้งด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงรับฟังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน และนำไปปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้จัดประชุมรายเขตไปแล้วจำนวน 21 เขต และจะครบทั้ง 50 เขต ในเดือน ส.ค. 67 โดยประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดและความคืบหน้าโครงการได้ที่เว็บไซต์ https://plan4bangkok.com/

ทั้งนี้ ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จัดทำขึ้นตามหลักวิชาการทางผังเมือง เพื่อชี้นำการพัฒนาเมืองและบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความปลอดภัย (Public Safety) มีสุขอนามัย (Public Health) และมีสวัสดิภาพของสังคม (Public Welfare) รวมถึงขั้นตอนการพิจารณาความคิดเห็นของประชาชนและขั้นตอนการพิจารณาคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร จะต้องผ่านการพิจารณาของหน่วยงานและคณะกรรมการที่กลั่นกรองหลายชุด มิใช่เป็นการดำเนินการภายใต้การตัดสินใจของ สวพ. เท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาตามหลักวิชาการและเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ โดย กทม. ในฐานะเป็นหน่วยงานท้องถิ่นผู้วางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครจะรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนมาพิจารณาปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครและเสนอคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: กรุงเทพมหานคร

กทม. เดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ไปแล้ว 21 เขต ครบ 50 เขตภายใน 30 ส.ค. นี้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO