นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ เป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณมากในประเทศไทย และมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเทคโนโลยีการทำความเย็น ทางองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้มีการส่งเสริมให้ใช้สารความเย็นธรรมชาติ และเทคโนโลยีทางเลือกมาระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังมีการใช้สารทำความเย็นที่ทำลายธรรมชาติ การขาดมาตรฐานด้านความปลอดภัย และนโยบายที่เอื้อให้ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติอยู่ ดังนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จึงร่วมมือกันเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านการใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2561 โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศไทยในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (Thailand Refrigeration and Air-conditioning Nationally Appropriate Mitigation Action: RAC NAMA) และระยะที่ 2 โครงการข้อริเริ่มสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Cooling Initiative: GCI III) โดยได้มอบหมายให้รองอธิบดีจิรวรรณ์ สุตสุนทร เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเผยแพร่ความรู้และมอบวุฒิบัตรแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม
ด้านของนางจิรวรรณ สุตสุนทร รองอธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการดำเนินโครงการอยู่ในระยะที่ 2 ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมการอบรมการเป็นผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การจัดทำหลักสูตรการจัดการสารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การฝึกอบรมขยายผลการจัดการสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการฝึกอบรมขยายผลการจัดการสารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2567 กรมฯได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 3 กิจกรรม และวันนี้ (23 ส.ค. 67) เป็นกิจกรรมที่ 4 คือ การจัดการสัมมนาการพัฒนาและเสริมสร้างทักษะการจัดการสารทำความเย็นธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพสูง ให้บุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและเครือข่าวพัฒนาฝีมือแรงงานมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติในเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นอย่างถูกต้องปลอดภัย และร่วมกันหารือถึงแนวทางการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสำหรับการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติในอนาคต เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อไป มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากผู้บริหารของภาครัฐ และเอกชน บุคลากรฝึกของกรมฯ และกรรมการผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 80 คน ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นโยบายหลักประการหนึ่งของรัฐบาล ที่กรมฯได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน และจะผลักดันให้มีการส่งเสริมและดำเนินงานเพื่อยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ และได้มาตรฐานฝีมือแรงงานอย่างต่อเนื่องต่อไป
ที่มา: กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน