นางสาวปภาวี ศรีสุทธิพงศ์ Business Development and Partnership Manager บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA เปิดเผยว่า ล่าสุด บริษัทฯได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ "Outstanding Contributor in Sustainability" ภายในงาน SPOTLIGHT DAY 2024 SUSTAINABILITY DISRUPTION วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา นับเป็นโล่รางวัลแห่งความภาคภูมิใจของชาวศรีตรัง ซึ่งการได้รับโล่รางวัลครั้งนี้มาจากความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทย สู่อุตสาหกรรมยางพาราสีเขียว และจากการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด "The Green Rubber Company" หรือ "องค์กรแห่งยางสีเขียวแบบครบวงจรอย่างยั่งยืน" ด้วยกลยุทธ์ "4 Green" ได้แก่ 1) GREEN COMPANY การดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล การกำกับดูแลกิจการที่ดี บนรากฐานของความโปร่งใส มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน 2) GREEN PROCUREMENT ให้ความสำคัญกับการจัดซื้อวัตถุดิบยางธรรมชาติอย่างโปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบย้อนกลับได้ ไปจนถึงการผลักดันให้เกษตรกรทำการผลิตยางพาราที่สะอาดและปราศจากสิ่งเจือปน 3) GREEN PROCESS มีกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานสากลเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน การใช้พลังงานหมุนเวียน มีระบบการบริหารจัดการน้ำ ไปจนถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ ซึ่งบริษัทฯ กำหนดเป้าหมายเป็น Carbon Neutral Company ภายในปี 2030 และ Net Zero ภายในปี 2050 และ 4) GREEN PRODUCTS พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ปราศจากสิ่งเจือปนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สอบย้อนกลับได้ และผลิตสินค้าจากสวนยางที่ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
ทั้งนี้ภายในงาน บริษัทฯ ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรแชร์องค์ความรู้ในเวทีสัมมนาหัวข้อ "The Path to a Sustainable Natural Rubber Indutry: Embracing Innovation and Overcoming Challenges โอกาสและความท้าทายการปฏิวัติอุตสาหกรรมยางพาราสู่อนาคตที่ยั่งยืน" โดยพูดถึงปัญหาและสาเหตุที่มาของกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรป โดยสหภาพยุโรปกำหนดให้การส่งออกยางพาราไปยุโรป ต้องแสดงข้อมูลที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของผลผลิตว่าไม่อยู่ในพื้นที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมยางในประเทศไทย
จากกฎระเบียบ EUDR บริษัทฯ มองเป็นโอกาสในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และการเพิ่มมูลค่ายางไทยให้กับประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทศรีตรังได้มีการนำ Digital Product ของบริษัทที่คิดค้นขึ้น มาพัฒนาต่อยอด และผนวกกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้เพื่อให้ตอบโจทย์กฎ EUDR และยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยในระดับสากล ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ประกาศความพร้อมการจัดทำ "ยางมีพิกัด(GPS)" หรือ "Traceable Natural Rubber (GPS)" ซึ่งเป็นยางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ และสามารถต่อยอดสู่การทำ Carbon Neutrality และ Net-Zero Emissions ในอนาคต บริษัทฯ จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Sri Trang Friends เพื่อรองรับการใช้งานของเกษตรกรและการจัดเก็บข้อมูลพิกัดแปลงปลูกยางพารา และแอปพลิเคชัน Sri Trang Friends Station สำหรับผู้ค้ายางในการรับซื้อยางจากเกษตรกร รวมถึงบริการ Super Driver ที่เป็นบริการช่วยเชื่อมต่อระหว่างเกษตรกรสามารถขายยางและส่งยางกับโรงงานของบริษัทฯ ได้ง่ายขึ้น จนเกิดเป็นระบบนิเวศ "Sri Trang Ecosystem" ที่เชื่อมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยางพาราทั้งหมดเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ในปี 2567 บริษัทยังมีการลงพื้นที่เพื่อเสริมสร้างทักษะการทำยางคุณภาพดี และความรู้ความเข้าใจการทำยางมีพิกัด (GPS) ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง และคู่ค้ายางไปแล้วมากกว่า 4,500 พื้นที่ทั่วประเทศไทย
ท้ายสุด บริษัทฯ เชื่อว่าการใส่ใจด้านความยั่งยืนถือเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยางพาราต้องตระหนัก และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ซึ่งกลุ่มบริษัทศรีตรังจะไม่หยุดนิ่งในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ (ESG) ตามแนวทางของบริษัทในการรักษาความเป็นผู้นำองค์กรแห่งยางสีเขียวแบบครบวงจรอย่างยั่งยืนระดับโลกต่อไป
ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย