หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทคืออะไร?
หมอนรองกระดูกเป็นแผ่นเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ มีหน้าที่ดูดซับแรงกระแทกและช่วยให้กระดูกเคลื่อนไหวได้อย่างยืดหยุ่น แต่เมื่อหมอนรองกระดูกเคลื่อนตัวหรือเสื่อมสภาพจนปลิ้นออกไปกดทับเส้นประสาท ก็จะทำให้เกิดอาการปวด ชา หรืออ่อนแรงในบริเวณแขน ขา หรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการกดทับ
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะนี้
- อายุที่เพิ่มขึ้น: หมอนรองกระดูกสูญเสียความยืดหยุ่นและเสื่อมลงตามวัย
- น้ำหนักเกินมาตรฐาน: ทำให้กระดูกสันหลังต้องรับภาระมากขึ้น
- ท่าทางในการใช้งานร่างกายไม่ถูกต้อง: เช่น ก้มเงยนาน ๆ หรือยกของหนักผิดวิธี
- สูบบุหรี่: ลดการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงหมอนรองกระดูก ทำให้เสื่อมเร็วขึ้น
- กรรมพันธุ์: หากคนในครอบครัวมีประวัติโรคนี้ ความเสี่ยงก็จะสูงขึ้นตาม
อาการที่ควรสังเกต
- ปวดคอหรือปวดหลังเรื้อรัง ไม่ทุเลาแม้พักผ่อน
- ปวดร้าวลงแขนหรือขา อาจมีอาการชา
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง ขยับมือหรือเท้าไม่สะดวก
- ในรายที่รุนแรง อาจมีปัญหาเรื่องการควบคุมปัสสาวะหรืออุจจาระ
แนวทางการวินิจฉัยและการรักษา
การวินิจฉัย
- ซักประวัติและตรวจร่างกาย
- การเอกซเรย์ เพื่อดูแนวกระดูกและความผิดปกติ
- การตรวจ MRI ช่วยให้เห็นภาพเส้นประสาทและหมอนรองกระดูกได้ละเอียด
การรักษา (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ)
- ระยะเริ่มต้น: ปรับพฤติกรรม หลีกเลี่ยงท่าทางที่กระตุ้นอาการ
- ระยะปานกลาง: ใช้ยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบ พร้อมทำกายภาพบำบัด
ระยะรุนแรง: อาจต้องฉีดยาลดการอักเสบเฉพาะจุด หรือพิจารณาผ่าตัดในกรณีที่อาการรบกวนการใช้ชีวิต
การดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดหรือกลับมาเป็นซ้ำ
- จัดท่าทางในการนั่ง ทำงาน และยกของให้ถูกหลัก
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ก้มคอนาน ๆ เช่น การเล่นมือถือ
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ โดยเน้นกล้ามเนื้อหลังและแกนกลางลำตัว
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- งดสูบบุหรี่
แม้ว่าอาการจะดูเล็กน้อยในตอนเริ่มต้น แต่หากละเลยการดูแล อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาวได้หากคุณสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวอาจมีภาวะนี้ ควรรีบเข้ารับการตรวจจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อประเมินอาการและเริ่มการรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็วที่สุด
สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนวเวช โทร.1507 I Line: @navavej
เพื่อฟื้นคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กลับมาอีกครั้ง
