ทั้งนี้ สปภ. จะประสานสำนักอนามัย (สนอ.) และสำนักงานเขตพื้นที่เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยในสถานประกอบการโรงงานและโกดังเก็บสินค้าขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะสถานประกอบการที่ผลิต เก็บ ครอบครอง มีการใช้สารเคมีและวัตถุอันตราย หรือวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ในพื้นที่กรุงเทพฯ
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวว่า สสล. ได้สนับสนุนเครื่องมือและบุคลากรร่วมแก้ไขปัญหาเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว โดยจัดรถสุขาเคลื่อนที่อำนวยความสะดวกบริเวณพื้นที่ที่มีการดับเพลิง และรถบรรทุกน้ำ 10 คันร่วมกับสำนักงานเขตใกล้เคียง เพื่อสนับสนุนน้ำให้แก่รถดับเพลิงอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ ส่วนมาตรการติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการตรวจสอบคุณภาพอากาศในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุง กทม. ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น 2.5 และ PM10 อย่างต่อเนื่อง โดยตรวจวัดด้วยวิธีมาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีสถานีตรวจวัดฯ ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ได้แก่ เขตลาดกระบัง (รัศมี 7 กิโลเมตร) เขตมีนบุรี (รัศมี 10 กิโลเมตร) และเขตหนองจอก (รัศมี 10 กิโลเมตร) โดยสรุปผลการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และ PM10 ในช่วงก่อน (วันที่ 10 พ.ค. 68) ระหว่าง (วันที่ 11 พ.ค. 68) และหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ (วันที่ 12 พ.ค. 68) พบว่า มีค่าไม่เกินมาตรฐานทั้ง 3 พื้นที่