ขณะเดียวกัน สนอ. ยังได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุกประเภทในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยสนับสนุนสำนักการศึกษา (สนศ.) ออกประกาศ กทม. เรื่อง การเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชา หรือกัญชงในโรงเรียนสังกัด กทม. และประกาศ กทม. เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด กัญชา กัญชง กระท่อม บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุขในโรงเรียนสังกัด กทม. รวมถึงสนับสนุนมาตรการดำเนินการกรณีพบการลักลอบจำหน่ายฯ ตามอำนาจหน้าที่ของ กทม. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยประสานกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ. เสนอ (ร่าง) พนักงานเจ้าหน้าที่ของ กทม. ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 เพื่อประกาศใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกรมการแพทย์แผนไทยฯ แจ้งว่าปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ มีความพร้อมและมีพนักงานเจ้าหน้าที่เพียงพอดำเนินการบังคับใช้กฎหมายได้ หากการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายมีประเด็น หรือสิ่งที่ต้องดำเนินการร่วมกัน กรมการแพทย์แผนไทยฯ จะหารือร่วมกับ กทม. เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร้องเรียนปัญหาผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue สายด่วน กทม. โทร. 1555 กรณีพบการลักลอบจำหน่ายกัญชา หรือปัญหาความเดือดร้อนอื่น ๆ จากกัญชา โดยสำนักงานเขตพื้นที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาตามอำนาจหน้าที่และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ เพื่อดำเนินการแก้ไขตามกฎหมาย
นอกจากนี้ สนอ. ได้สนับสนุนการดูแลพฤติกรรมของเด็กนักเรียนโรงเรียนในสังกัดไม่ให้ข้องเกี่ยวกับยาเสพติดทุกประเภท โดยจัดทำหนังสือสัญญาและข้อตกลงการเป็นนักเรียนโรงเรียนในสังกัด โดยคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรุงเทพมหานครมีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 68 เห็นชอบให้ สนศ. นำหนังสือสัญญาและข้อตกลงการเป็นนักเรียนโรงเรียนในสังกัดแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดนำไปประกาศใช้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมกำกับ ดูแล อบรม สั่งสอน ตักเตือน และชี้แนะบุตรหลาน ให้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับและวินัยของโรงเรียน ซึ่งมีข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในการดูแลพฤติกรรมของเด็กนักเรียนไม่ให้เข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดทุกประเภท
ส่วนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาและสารเสพติดในเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง/กลุ่มเปราะบาง ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้ร่วมกับสถานศึกษา สำนักงานเขต และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ดำเนินการตามแนวทาง ได้แก่ "Early Detection" (ขั้นตอนการคัดกรอง) คัดกรองนักเรียนจากจุดเสี่ยงในโรงเรียน/แหล่งมั่วสุมใกล้สถานศึกษา จากครูในชมรม TO BE NUMBER ONE แบบประเมินภูมิคุ้มกันยาเสพติดและสารเสพติด ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนในสังกัด คัดกรองผ่านระบบ SO SAFE ระบบเติมเต็ม การคัดกรองจากอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) และอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยและยาเสพติด กทม. (อสย.) ในชุมชนค้นหาสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และแยกกลุ่มของนักเรียนเสี่ยงตามสภาพปัญหาและลงพื้นที่จุดเสี่ยง หรือแหล่งมั่วสุม "Early Intervention" (ขั้นตอนก่อนรับพฤติกรรม) ตรวจปัสสาวะนักเรียนที่มีความเสี่ยงการใช้ยาเสพติดและสารเสพติด โดยเชิญผู้ปกครองและลงลายมือชื่อในหนังสือบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้ปกครองและสถานศึกษา "Prevention Drop out" (ขั้นตอนการช่วยเหลือ/ปรับพฤติกรรม) กรณีพบสารเสพติด หรือยาเสพติดส่งบำบัด ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง หรือคลินิกก้าวใหม่/คลินิกก้าวใหม่พลัส ดำเนินการเยี่ยมบ้านนักเรียนกลุ่มเสี่ยง ให้คำปรึกษา/แนะนำครอบครัว ประเมินคัดกรองปัญหาตามความเร่งด่วนด้านการเรียน สุขภาพ รายได้ และสังคม ให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่มีความเสี่ยง และติดตามประเมินผลผลการในด้านการเรียนและอื่น ๆ และ "Pull in" (การนำเด็กและเยาชนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา)
โดยการลงพื้นที่ชุมชน เพื่อค้นหาและนำนักเรียนที่ออกจากระบบการศึกษา และเด็ก/เยาวชนที่ศาลพิพากษาให้ปล่อยตัวหรือเด็ก/เยาวชนที่พ้นการฝึกอบรมกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และสามารถศึกษาจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ตลอดจนดำเนินงานด้านการป้องกันการติดยา/สารเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน เด็กกลุ่มเสี่ยง/กลุ่มเปราะบางทั้งในและนอกสถานศึกษา โดยกลุ่มนักเรียนในสถานศึกษาได้เสริมสร้างภูมิคุ้มกันการป้องกันยาและสารเสพติดให้เด็กและเยาวชน นักเรียนในสถานศึกษาสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง และสังกัด สพฐ. 37 แห่ง ส่วนกลุ่มเสี่ยง/กลุ่มเปราะบางทั้งในและนอกสถานศึกษา ได้คัดกรองนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนในสังกัด 109 โรงเรียน ซึ่งในปีการศึกษา 2567 นักเรียนได้รับการคัดกรอง 11,103 คน พบว่า มีภูมิคุ้มกันปกติ 5,305 คน ภูมิคุ้มกันต่ำ 5,416 คน และเสี่ยง 382 คน โดยได้ดำเนินการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาและสารเสพติดและทักษะชีวิตให้แก่นักเรียนที่มีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับต่ำและเสี่ยง รวมถึงติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือให้สามารถศึกษาจนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้