โดยในปี 2563 ได้ดำเนินงานตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในแพลตฟอร์มการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำใน 4 ข้อคือ 1. นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม โดยจัดทำแผนงานชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนงานมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ 2. ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ 3. เมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ โดยการจัดทำแผนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 4. การแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยจัดทำแผนงานการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ
ดร.กิตติ กล่าวว่า บพท. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 664.21 ล้านบาท โดยเป็นการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 651.21 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.04 ของงบประมาณที่ได้รับ โดยมีหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรทุนวิจัย จำนวน 46 แห่ง โครงการที่ได้รับจัดสรรฯ 88 โครงการ กระจายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยได้ยกตัวอย่างโครงการที่กำลังดำเนินการ อาทิ การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ กระจายกำลังค้นหาคนจนจริงที่ไม่อยู่ในระบบให้เข้าสู่ระบบ และแยกคนจนไม่จริงหรือพ้นความยากจนออกจากระบบ สอบทานข้อมูลกับกลไกและแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยแบ่งเป็นคนจนสองประเภทคือ 1. คนจนหนี้สิน จะใช้งานวิจัยและนวัตกรรม โมเดลธุรกิจ (Business Model) ของ หน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น เพื่อเข้าไปหนุนเสริม กระบวนการเรียนรู้ผ่านการสร้าง Learning Platform ให้สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 2.คนจนยากไร้ จะประสานและส่งต่อระบบการช่วยเหลือ ระบบสงเคราะห์ของทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งการดำรงชีพ ที่อยู่อาศัย การศึกษา และสุขภาพ เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นต้น
"ซึ่งจากการสำรวจอย่างละเอียดในพื้นที่จังหวัดนำร่องยากจน 10 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, อำนาจเจริญ, สุรินทร์,ชัยนาท, ยโสธร, ศรีษะเกษ, สกลนคร, มุกดาหาร, กาฬสินธุ์ และปัตตานี โดยมีคนจนเป้าหมายจำนวน 131,040 คน เมื่อสำรวจพบคนยากจนจริงจำนวน 352,991 คน จากนั้นได้ส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อประสานขอรับการช่วยเหลือทั้งเรื่องของการดำรงชีพ ที่อยู่อาศัย การศึกษา และสุขภาพ และในปี 2564 จะลงสำรวจในพื้นที่เป้าหมายเพิ่มอีก 10 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง, เลย, พิษณุโลก, ร้อยเอ็ด, นครราชสีมา, พัทลุง, อุบลราชธานี, บุรีรัมย์, ยะลา และนราธิวาส โดยมีคนจนเป้าหมายจำนวน 205,199 คน" ดร.กิตติ กล่าว
ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวด้วยว่า ด้วยเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนแบบตรงจุด นอกจากจะค้นหาคนยากจนจริงในพื้นที่แบบละเอียดแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปคือ การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ โดยการเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาให้เป็นโครงสร้างความรู้ กำลังคนในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชนระยะยาว ผ่านการยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่เป้าหมาย กระจายรายได้ที่เป็นธรรมสู่กลุ่มผู้ผลิตหรือเกษตรกรต้นน้ำและคนในชุมชน นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาระบบและกลไกการบริหารจัดการงานวิจัยและเพิ่มขีดความสามารถและประสบการณ์ในด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาหรือแก้ปัญหาพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น อันจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สร้างขีดความสามารถของชุมชนในการนำนวัตกรรมไปใช้เปลี่ยนแปลงและจัดการปัญหาชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวถึงผลการดำเนินงานต่อว่า บพท. จัดสรรทุนฯ โดยก่อให้เกิดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่นจำนวน 417 แห่ง โดยยกตัวอย่างการขับเคลื่อนที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การพัฒนากลไกดูดซับเศรษฐกิจเครื่องแกงฮาลาลันตอยยีบัน ของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ จ.ปัตตานี สู่ตลาดเครือข่าย โดยการตั้ง บริษัท เอฟแอนด์คิว รับซื้อเครื่องแกงจากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อรองรับตลาดในมาเลเซียและเข้าไปพัฒนามาตรฐานสินค้าโอท็อป มาตรฐานอาหารและยา มาตรฐานจีเอ็มพีและมาตรฐานฮาลาลผ่านการสร้างแบรนด์ที่สื่อสารภายใต้ชื่อ Re'Kaaa
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการวิจัยมหาวิทยาลัยกับการพัฒนากลไกเพื่อดูดซับเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยทำงานในสองรูปแบบคือ 1. สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นตลาด โดยการจับคู่ดีมานด์กับซัพพลายให้มาเจอกันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนจากการบริโภคของนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยที่มีมากกว่า 1 หมื่นคน เช่น ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่นำนโยบายส่งเสริมการใช้ผ้าและวัสดุจากท้องถิ่นมาปรับรูปแบบชุดครุยจากเดิมที่เป็นแถบกำมะหยี่ เปลี่ยนเป็นแถบที่ใช้ผ้ายกเมืองนครของกลุ่มผ้าบ้านตอกแค ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนประมาณ 9 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ที่ตกกับชุมชนโดยตรง 4 ล้านบาท 2. จัดแพลตฟอร์มให้มหาวิทยาลัยเป็นตลาด ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนกราวด์ เพื่อเป็นพื้นที่ระบายสินค้าให้ชุมชนและเกิดการบริโภคภายในประเทศ โดยมีบางมหาวิทยาลัยทำแพลตฟอร์มค้าขายออนไลน์แล้ว เช่น ธรรมศาสตร์มาร์เก็ตเพลส, Junhuu.com และ รมว.อว.ได้มอบหมายให้ บพท. มาขยายผลต่อ
ขณะเดียวกัน บพท.ยังได้ใช้กลไกการสร้างเศรษฐกิจฐานรากจากศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการสร้าง "ตลาดวัฒนธรรม" และ 1 ใน 18 พื้นที่ตลาดวัฒนธรรมที่เกิดจากการวิจัย ได้แก่ "หลาดชุมทางทุ่งสง" พื้นที่การค้าผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรม โดยความร่วมมือของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่พัฒนาฐานทุนวัฒนธรรมทุ่งสงและทีมนักวิจัยจากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมผลักดันเมืองทางผ่านที่เงียบเหงากลายเป็นพื้นที่ชุมชนวัฒนธรรมให้เด็กและเยาวชนได้มาแสดงศิลปวัฒนธรรมในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเศรษฐกิจในพื้นที่นี้ไม่กระทบมากนัก เนื่องจากเป็นการบริโภคภายในชุมชนและจังหวัดใกล้เคียงที่ไม่ได้พึ่งพาห่วงโซ่การผลิตโลก ดร.กิตติ กล่าว
ที่มา: สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)